xs
xsm
sm
md
lg

คนริมโขงรวมพลวันค้านเขื่อนโลก จวกจีนปล้นแม่น้ำสร้างเขื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.58 ซึ่งตรงกับวันหยุดเขื่อนโลก ในหลายพื้นที่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์แม่น้ำ โดยที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีการจัดรณรงค์คัดค้านเขื่อนโดยมีขบวนเรือที่เขียนป้ายระบุว่า “แม่น้ำโขงไม่ได้มีไว้ขาย” พร้อมทั้งเสวนาในหัวข้อ “2 ทศวรรษแม่น้ำโขงกับการพัฒนา” โดยมีชาวบ้านทั้งจากภาคเหนือ ภาคอีสาน และนักวิชาการ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) กล่าวว่า 20 ปี ของการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เป็นไปโดยอำนาจของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ใช่ทุกประเทศที่ทำข้อตกลงที่ร่วมกัน ทั้งที่มีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอมอาร์ซี เช่น ประเทศที่ไม่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับการทำนโยบายแม่น้ำโขง คือ จีนกับพม่า ส่งผลให้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมากฎกติกาเรื่องแม่น้ำโขงไม่มีความชัดเจน และไม่มีการรับฟังจากประเทศจีน อำนาจในการบริหารแม่น้ำโขงจึงไม่ใช่ของทุกประเทศ ดังนั้นในอนาคตต้องแก้กฎหมายที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการ บริหารแม่น้ำโขง โดยหากมีประเทศใดประเทศหนึ่ง คัดค้านโครงการพัฒนาน้ำโขงให้ถือว่า ประเทศสมาชิกที่มีชายแดนแม่น้ำโขงทุกประเทศต้องรับฟัง และไม่มีการสรุปเป็นฉันทามติเพื่อเดินหน้าโครงการ

นายหาญณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้แม่น้ำโขง คล้ายกับโดนปล้นโดยประเทศใหญ่เพียงประเทศเดียว คือ ประเทศจีน เพราะเขื่อนแม่น้ำโขงในทางตอนเหนือที่จีนสร้าง คือ ผู้มีอำนาจในการจัดการแม่น้ำเบ็ดเสร็จเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนประเทศอื่นๆ ต้องรับมือกับผลกระทบเมื่อสร้างเขื่อนหรือมีการพัฒนาอื่นๆ ตามมา กลายเป็นว่าไม่มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรน้ำ

นายไกรศักดิ์ ชุณหวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้เรามีเทคโนโลยีด้านโซล่าร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งขณะนี้มีประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผลิตได้มากที่สุดแล้วส่งขาย คือ ประเทศมาเลเซีย ขณะที่เยอรมันนี ใช้พลังงานทางเลือกมากมายทั้ง ลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนประเทศไทยและประเทศอื่นในลุ่มน้ำโขงนั้น ขณะนี้มีโครงการพัฒนาขึ้นมาเป็นเพียงกุศโลบายของนักลงทุนเท่านั้น การสร้างเขื่อนเป็นเพียงความตั้งใจการทำลายธรรมชาติเพราะโครงก่อสร้างอันใหญ่โต มักจะมีช่องทางในการซื้อ-ขาย ส่วนกำไรมากมาย ยิ่งเป็นโครงการเขื่อนด้วยแล้ว ผลประโยชน์ป่าไม้ และโครงการก่อสร้างยิ่งมหาศาล ทำให้นักลงทุนต้องการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีประชาชนเป็นผู้จ่ายรายใหญ่ แต่ไม่มีผลกำไรสู่ประชาชน อย่างกรณีเขื่อนไซยะบุรี ตอนนี้มีธนาคารของไทย 4 ธนาคาร ร่วมทุ่มทุนสร้าง ดังนั้นในการต่อสู้เป็นเรื่องยากเพราะทุนใหญ่มีมากมาย แต่เหตุผลที่เราประสบความสำเร็จในการรณรงค์ เพราะเรามีการใช้หลักนิติกร และกระบวนการยุติธรรม ส่วนกระบวนการอื่นๆ ที่จะเอาผิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ 100 %

ด้านนางสุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์เร่งด่วน คือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรที่จะสร้างพันธะกรณีระหว่างประเทศ โดยมีการเคลื่อนไหวในรูปแบบอนุสัญญาในด้านต่างๆ ที่ไทยเป็นภาคี เช่น พ.ร.บ.สิทธิชุมชน พ.ร.บ.น้ำ เราต้องเร่งรัดสร้างพันธะกรณีร่วมกันเพื่อเคารพสิทธิชุมชนในแบบข้ามแดน สำหรับปัจจัยอื่นทีเกี่ยวข้อง คือ ในขณะนี้ประเทศอาเซียนมีแผนพัฒนา 3 เสาหลัก คือ 1 เสาเศรษฐกิจ 2เสาการเมืองและความมั่นคง และ 3 สิ่งแวดล้อมและแรงงาน โดยแผนระหว่างประเทศข้อ 3 ไม่มีผู้นำใดให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ทั้งที่มีการร่างแผนในการสร้างความความร่วมมือระหว่างประเทศไว้นานแล้วแต่ปัจจุบันยังไม่มีการนำเสนอใดๆเลย เกี่ยวกับเสาที่ 3 ดังนั้นการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงต้องนำมาเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่า นโยบายใดๆ ก็ตามที่เป็นการพัฒนาลุ่มน้ำหรือพื้นที่ที่มีชาติพันธุ์ทั่วโลกให้ความสำคัญ เขาคือกลุ่มหนึ่งในการมีส่วนร่วมจัดการ ดังนั้นเวลาที่มีการพัฒนาโครงการใหญ่ต้องเปิดโอกาสให้พี่น้องทั่วประเทศรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีส่วนร่วมด้วย

ขณะที่นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่าการขับเคลื่อนนโยบายทุกอย่างที่เป็นการลงทุน หรือก่อสร้างใดๆ ในชุมชน สิทธิประชาชนในท้องถิ่นต้องไม่ถูกละเมิด ขณะเดียวกันเมื่อมีการเคลื่อนนโยบายในการลงทุนในแบบส่วนรวมอย่างเช่น การพัฒนาทรัพยากรระหว่างประเทศอย่างแม่น้ำที่ใช้ร่วมกัน โดยใช้พื้นที่ของประเทศใดประเทศหนึ่งในการพัฒนา เราก็ต้องเคารพสิทธิระหว่างประเทศด้วย จึงจะเกิดความยั่งยืนในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า ในอนาคตอาจมีเครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำแห่งเอเชีย เพื่อยกระดับเครือข่ายให้เป็นนานาชาติ เพราะการลงทุนด้านต่างๆ สามารถลงทุนข้ามชาติได้ การอนุรักษ์ต้องเน้นที่การตกลงระหว่างประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น