xs
xsm
sm
md
lg

สปช.รับหลักการ รายงานปฏิรูปฯ ชุมชนเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 11.00 น.วานนี้ ( 23 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการปฏิรูประบบเพื่อสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ปฏิรูป ด้านสังคม ชุมชน เด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส สปช.
โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธาน คณะกมธ. กล่าวนำเสนอหลักการว่า คณะกมธ.ได้ตั้งคณะอนุกมธ.ปฏิรูประบบที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่น และสังคมขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อทำหน้าที่ทบทวนเอกสาร และรวบรวมข้อเสนอแนะจากหน่วยงาน และเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เสนอต่อคณะกรรมธิการฏิรูปสังคมฯ พร้อมทั้งได้ยกร่างกรอบแนวคิดเบื้องต้น เสนอต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ
นอกจากนี้ ยังได้จัดเวทีสัญจรเพื่อให้ผู้แทนทุกภาคส่วน ให้ความเห็นต่อทิศทางปฏิรูป โดยเป็นการทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยมีองค์กรภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 10 เครือข่าย
นพ.อำพล กล่าวต่อว่า รายงานฉบับดังกล่าวได้เสนอแนวทางการปฏิรูปเพื่อสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง แบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ 4 ประการ โดยพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยชุมชน ทำให้ชุมชนมีสิทธิชุมชน และมีความเป็นเจ้าของและสามารถจัดการตนเองร่วมกับภาครัฐและทุกภาคส่วนในสังคมได้ รวมทั้งทำให้ชุมชนสามารถจัดการทุนชุมชนโดยชุมชน ในเรื่องทรัพยากรวัฒนธรรม ทุนทางปัญญา เช่น การผลักดัน พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เพื่อดำเนินการสนับสนุนด้านการเงินให้กับเกษตรกร เพื่อป้องกันที่ดินหลุดมือ และเพื่อการจัดหาที่ดินให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ เป็นต้น พร้อมสร้างหลักประกันทางสังคมที่เท่าเทียมให้กับชุมชน ในด้านสวัสดิการชุมชน และชุมชนมีส่วนร่วมจัดบริการสาธารณะ ควบคู่กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนให้มีฐานรากเข้มแข็งและยั่งยืน ที่ผ่านมาไม่มีกลไกในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งคือ ต้องคืนอำนาจ สิทธิในการจัดการ เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ พร้อมทั้งเพิ่มอำนาจให้ชุมชน ลดอำนาจรัฐ โดยรัฐต้องมีหน้าที่สนับสนุน ปกป้องคุ้มครอง เสริมสร้างพลังให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งผลักดันเสาหลักในชุมชน ทั้งงบประมาณ สวัสดิการสังคม หลักการประกันทางเศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่นๆ
ทั้งนี้ การอภิปรายของสมาชิก สปช. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยส่วยใหญ่ อภิปรายสนับสนุ รายงานดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้โครงสร้างของประเทศมีความมั่นคงและยั่งยืน เมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง พร้อมมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ โดย นพ.พรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์ ได้อภิปรายว่า ไม่ควรแยก สถาบันพัฒนาชุมชนเป็นหลายหน่วยงานย่อย แต่ควรรวมสถาบันชุมชนเป็นหน่วยเดียว เพื่อให้มีศักยภาพในการพัฒนาชุมชน
ขณะที่นายจำลอง โพธิ์สุข กล่าวว่า สิ่งสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนคือการเข้าถึง และสามารถใช้ทรั พยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ดังนั้น ต้องมีระบบการจัดการตนเองของชุมชน การมีผังชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ รวมถึงให้ชุมชนมีส่วนในการแก้กฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งภายหลังจากอภิปรายร่วม 6 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติรับหลักการรายงานดังกล่าว ด้วยคะแนน 206 ต่อ 1 งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 211 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง รับความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกที่ได้อภิปรายจำนวน 31 คน ส่งให้กลับคณะกมธ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาอีกครั้งในอีก 3 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น