ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือแถลงการณ์แสดงท่าทีพอใจในเบื้องต้น หลังการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกรณีปัญหาที่ดินทำกิน และผลกระทบจากแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ขณะที่ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเตรียมลงพื้นที่ตั้งวงคุยอีกรอบ 17 พ.ย. 57
ช่วงบ่ายวันนี้ (13 พ.ย.) ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันเผยผลการประชุมร่วมกับแกนนำและตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
ทั้งนี้ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและข้อเสนอเรียกร้องของคนจนและเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกิน และการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมทั้งกรณีผลกระทบจากแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การพูดคุยในครั้งนี้ตน และคณะได้รับการประสานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งติดภารกิจสำคัญ ให้มาพบปะพูดคุยรับฟังข้อมูลปัญหาความเดือนร้อนจากทาง สกน.เป็นการล่วงหน้า โดยที่ในวันที่ 17 พ.ย. 57 จะเดินทางมาประชุมกับ สกน.ด้วยตัวเองที่จังหวัดเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เบื้องต้นได้รับทราบข้อปัญหาของเกษตรกรและชาวบ้านที่เป็นสมาชิก สกน.ที่มีปัญหากรณีที่ดินทำกินและได้รับความเดือดร้อนจากแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งในขั้นต้นได้รับเรื่องไว้และจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการหาทางออกร่วมกันให้ โดยยึดทั้งหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรมควบคู่กันไป
สำหรับข้อเสนอเรียกร้องของ สกน.ที่ต้องการให้ทบทวนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐ เนื่องจากทำให้ประชาชนเดือดร้อน และผลักดันนโยบายการถือครองที่ดิน
กฎหมาย 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชน และร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมนั้น ม.ล.ปนัดดาบอกว่า จะสรุปรายละเอียดทุกอย่างนำเสนอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นก็จะประสานให้ ซึ่งเชื่อมั่นว่ารัฐบาลพร้อมที่จะดำเนินการโดยยึดพื้นฐานเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ กรณีที่มีตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ให้ข้อมูลว่าชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีจากแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐ แต่นายทุนที่บุกรุกพื้นที่ตัดไม้ในพื้นที่เดียวกันกลับไม่ถูกดำเนินการใดๆ และยังมีการเย้ยหยันข่มขู่ชาวบ้านอีกด้วยนั้น ม.ล.ปนัดดาระบุว่า กรณีดังกล่านี้เป็นเรื่องน่าตกใจและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทั้งนี้จะมีการประสานให้มีการตรวจสอบและเน้นย้ำกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เอาจริงเอาจังในการทำงาน
ด้านสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ออกแถลงการณ์ แสดงท่าทีต่อการประชุมในครั้งเดียวกันนี้ โดยมีนายดิเรก กองเงิน ที่ปรึกษา สกน. เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า การประชุมในครั้งนี้ที่มีการเจรจาหารือถึงการแก้ไขปัญหาใน 9 ประเด็นสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากแผนแม่บทฯ และคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66/2557, การทบทวนแผนแม่บทฯ, การเร่งรัดดำเนินการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน), การเร่งรัดโฉนดชุมชน, การเข้าถึงกองทุนยุติธรรม และการผลักดันนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เป็นต้น
ปรากฏผลการเจรจาเป็นไปตามแนวทางที่ สกน.เสนอ และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งรัดดำเนินการอย่างเร่งด่วน พร้อมจะมีการติดตามผลตามกรอบระยะเวลาที่ได้ตกลงร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการเดิน ก้าว แลก เพื่อปฏิรูปที่ดินไทย ยังคงมีก้าวต่อไปอยู่ โดยที่ในวันที่ 17 พ.ย. 57 ที่จะมีการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลและเป็นสัญญาณสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของกิจกรรมนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ตลอดจนจะมีผลต่อการกำหนดอนาคตของชุมชนที่อาศัยในที่ดินของรัฐมากกว่า 20,000 ชุมชนด้วย ซึ่งครอบคลุมประชากรมากกว่า 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 6 ของประเทศ
ทั้งนี้ หากการเจรจาล้มเหลวย่อมหมายถึงชุมชนและประชาชนดังกล่าวจะถูกดำเนินการคุกคามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น อีกทั้งการจับกุมดำเนินคดีและการโยกย้ายชุมชนออกจากป่าจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่แนวคิดดังกล่าวประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ในโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ที่ดำเนินการโดยทหาร และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน)