xs
xsm
sm
md
lg

สปช.แฉวงการศึกษาสุดเสื่อม อยากย้ายต้องใช้ตัวเข้าแลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง “สานพลังสปช. ออกแบบอนาคตประเทศ" วันที่สองได้มีการนำเสนอผลจากการการแบ่งกลุ่มสัมมนา 10 กลุ่มในหัวข้อ “เราจะทำให้ฝันเป็นจริงได้อย่างไร โดยเฉพาะในประเด็น การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสมาชิกสปช. เห็นตรงกันว่า ระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย ระบบราชการ นักการเมือง และค่านิยมสังคมที่เน้นการบูชาคนรวยเร็ว ขาดจริยธรรม จิตสำนึกต่อส่วนร่วม เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการแก้ไขปัญหา ควรมีการกำหนดเรื่องการแก้ไขความเหลื่อมล้ำการกระจายอำนาจสู่ประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูกเพื่อให้เกิดการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ โดยในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ เสนอให้มีการปรับโครงสร้างภาษี มีกลไกภาษีที่เป็นธรรม เพื่อลดช่องว่างในสังคมให้แคบลง คนจนต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นปีละ1ล้านบาท เปลี่ยนจากทุนนิยม เป็นสังคมนิยมเสรี เน้นส่งเสริมสร้างทุนสัมมา คือ การทำอะไรด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส ยึดธรรมาภิบาล ส่งเสริมรัฐสวัสดิการในทุกสาขาอาชีพตามบริบทของสังคมไทย ทุกคนต้องช่วยกันทำงานแล้วเสียภาษี และรัฐช่วยส่วนหนึ่ง ให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน โดยกระจายระบบสหกรณ์ให้กว้างขวาง มีการจัดสรรที่ดินใหม่ทั้ง มีนโยบายคืนภาษีให้กับธุรกิจที่เป็นไปเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่นธุรกิจรีไซเคิลขยะ สร้างคลังสมองใน หลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะนโยบายตรึงราคาสินค้า ประกันสุขภาพ ภัยแล้งน้ำท่วม จำนำข้าว เพื่อให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนไว้สำหรับการตัดสินใจ
ด้านสังคมและทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีระบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม จัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ยกเลิกกฎหมายล้าสมัยเกี่ยวกับการจัดทรัพยากรธรรมชาติ ทบทวนการตรวจสอบสิทธิ ยกเลิกสัมปทานในทรัพยากรธรรมชาติที่ให้กับเอกชนระยะยาว เนื่องจากประชาชนไมได้ประโยชน์ ให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงใช้ทรัพยากร จัดระบบข้อมูลใหม่ให้เป็นปัจจุบันเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐ เฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีกฎหมายโฉนดที่ดิน ธนาคารที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ขจัดการเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่มบางพวก ให้ชุมชนเป็นผู้บริหารและใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นตน มีการสร้างชุมชนแข็งแรงลดอำนาจรัฐส่วนบน ขยายฐานการเมืองส่วนล่าง ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนดูแลตัวเอง กระตือรือร้นในการพัฒนาประเทศ ยกเรื่องการสร้างชุมชนแข้งแข็งเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้มีแผนของชุมชน มีระบบทุนของกองทุนต่างๆ และให้จังหวัดที่มีความพร้อมสามารถจัดการตัวเองได้ ส่งเสริม สภาพลเมืองชุมชน ที่มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาระดับจังหวัด เพื่อฝึกให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยควบคู่กับการตรวจสอบ
ด้านการศึกษาควรส่งเสริมการศึกษาให้เหมาะสมกับท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษา ลดจำนวนมหาลัยที่ไมได้คุณภาพ สร้างค่านิยมครูนักเรียนว่า การมีครอบครัวอยู่ด้วยกันและมีงานทำ ดีและถูกต้องกว่าเรียนเพื่อให้ได้ทำงานที่ได้เงินมาก ๆ แล้วร่ำรวย เพื่อแก้ไขค่านิยมของสังคมที่ บูชาคนรวยเร็ว สร้างค่านิยมความภูมิใจในความเป็นไทย เน้นส่งเสริมให้มีการจดลิขสิทธิ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้รัฐประกันโอกาสการศึกษา ในแนวทางเดียวกับสปสช. เน้นการเรียนฟรีถึงปริญญาตรี และเน้นการศึกษาทางเลือกให้มากขึ้น ให้นโยบายการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นไปของรัฐบาลโดยให้งบประมาณเรียนฟรีถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของการใช้งบประมาณประเทศ ส่งเสริมให้ท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น เป็นผู้กำหนด แนวทางการศึกษาและ มีอิสระในการจัดการศึกษาทางเลือก ทำให้การศึกษาเป็นตัวเพิ่มต้นทุนชีวิต สนับสนุนสร้างโอกาสให้กลุ่มเยาวชนที่ด้อยโอกาส ยกเลิกนโยบายให้นักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน ขจัดปัญหาการแทรกแซงรัฐให้การส่งเสริมสถานศึกษาเอกชนน้อยเกินไป เน้นงานด้านเอกสารแต่ไม่กำกับทิศ คุณภาพการศึกษา
ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมวัฒนธรรมต่อต้านคนโกงอย่างต่อเนื่อง มีการนำนิยามของคำว่า “คอรัปชั่น” ขององค์กรสหประชาชาติ ที่มีความหมายกว้างขวางทั้งการคอรัปชั่นในการบริหารราชการแผ่นดิน การเมือง และวัฒนธรรม มาแทนความหมายคำว่า “ ทุจริต” ที่มีอยู่ในกฎหมายไทยซึ่งเน้นเฉพาะการโกงเงินทอง จัดตั้งสภายุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อกำกับติดตามการปฏิบัติตามนโยบาย ป้องกันระบบการศึกษาให้ปลอดจากการเมือง แก้ไขพ.ร.บ.การศึกษาให้มีประสิทธิ ยกเลิกสถาบันกวดวิชา และใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีมาตรฐานในการกวดวิชา ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทุกระดับให้มีการเรียนการสอนเรื่องวินัยและหน้าพลเมือง
อย่างไรก็ตามในการเสนอของกลุ่มย่อยที่ 9 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่ม ก็ได้ให้ข้อมูลว่า ระบบการศึกษาไทยใช้เงินจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้ในเรื่องคุณภาพ ยกตัวอย่างการย้ายบุคลากรทางการศึกษาในบางจังหวัด หากจะย้ายจากชนบทเข้ามาในเมืองต้องเสียเงินตามจำนวนกิโลเมตรที่ย้ายเข้ามา บางรายมีรายงานด้วยว่าถึงกับต้องเอาตัวเองเข้าแลก ซึ่งเมื่อ น.ส.สารี เสนอข้อมูลนี้ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ดำเนินรายการก็ได้ถาม น.ส.สารีว่า นอกจากเสียเงินตามหลักกิโลเมตรแล้วยังต้องเสียตัวด้วยหรือ น.ส. สารีก็กล่าวว่า “ถูกต้อง “แต่ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้แย้งว่า ข้อมูลที่น.ส.สารีพูดแท้จริงไม่ควรนำมาเปิดเผยเพราะมีสื่อจำนวนมากฟังอยู่จะกลายเป็นว่า สปช.ไปกล่าวหาครูทำให้มีผลกระทบกับวงการครู จึงขอให้น.ส.สารีระบุว่าเป็นความเห็นส่วนตัวได้หรือไม่ แต่น.ส.ก็ยังยืนยันว่าเป็น ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลจริง เมื่อเราต้องการปฏิรูปก็ควรต้องยอมรับปัญหาและข้อมูลที่เป็นจริง ไม่เช่นนั้นจะเป็นแค่การ “ปฎิลูบ” และข้อมูลนี้ยืนยันว่าเป็นข้อมูลที่มีการเสนอในวงสัมมนากลุ่ม ซึ่งนายเจิมศักดิ์ ก็ขานรับว่า ไม่จำเป็นต้องกลัวสื่อรู้ เพราะตนก็เป็นสื่อและอยากรู้เช่นกันว่าเหตุเกิดที่จังหวัดใด
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอในประเด็นการปฏิรูปการเมือง โดยนายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ สปช. อดีจอธิการบดีนิด้า และแกนนำ กปปส. นำเสนอความเห็นของกลุ่มย่อยที่ 9 ว่า มีข้อเสนอที่น่าสนใจคือขอให้สร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน จัดตั้งสภาพลเมืองทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติผู้สมัครระดับท้องถิ่น และการประพฤติของนักการเมืองระดับชาติ เพื่อคัดกรองผู้ที่จะลงสมัคร จัดให้มีการศึกษาทางการเมืองแก่เยาวชนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นความรู้ทางจริยธรรมทางการเมือง วัฒนธรรมและความเชื่อทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย ต้องทำให้ประชาชนพ้นความยากจนไม่เป็นเหยื่อนักการเมืองซื้อเสียง ควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารไม่ให้นานเกินไปเพื่อไม่ให้สร้างอิทธิพล ปรับปรุง กกต. ทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัดไม่ให้ถูกการเมืองแทรกแซง ทั้งระบบสรรหา และปรับกฎหมายเลือกตั้ง มีการกำหนดค่าการประเมินของนักการเมือง กำหนดวงเงินหาเสียงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงตามช่วงเวลา การกำหนดโทษการทุจริตการเลือกตั้งทั้งแบบรุนแรงคือการซื้อเสียง ส่วนความผิดอื่นอาจเปลี่ยนเป็นค่าปรับ การทำให้พรรคการเมืองไม่เป็นพรรคของนายทุน ประชาชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเงินทุนของพรรคหรือนักการเมือง มีองค์กรตรวจสอบถอดถอนที่มาจากภาคเครือข่ายประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น