ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สภาองค์กรชุมชนภาคเหนือตอนบนเปิดเวทีถกแนวทางร่วมออกแบบประเทศไทยผ่าน สปช. วางเป้าส่งตัวแทนเข้าร่วมให้ได้อย่างน้อย 10% หรือ 25 คนจาก 250 คน พร้อมเอาคนสอบตกตั้งสภาคู่ขนาน
วันนี้ (26 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 25-26 ส.ค. 57 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสภาองค์กรชุมชนตำบลในภาคเหนือตอนบน (แพร่, ลำปาง, พะเยา, เชียงราย, น่าน, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน และเชียงใหม่) กว่า 80 คน ได้ร่วมประชุมกำหนดทิศทางสภาองค์กรชุมชนตำบลที่เข้าร่วมสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ห้องประชุมโรงแรมศินีนารถการ์เด้น จ.เชียงใหม่
ในเวทีนี้นอกจากนายสามารถ พุทธา อนุกรรมการประสานงานสภาองค์กรชุมชนภาคเหนือตอนบน จะบอกกล่าวถึงแนวทางของสภาองค์กรชุมชนฯ ที่เป็นหนึ่งในองค์กรสรรหาบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ สปช.แล้ว นายสวิง ตันอุด นักเคลื่อนไหวแนวทางกระจายอำนาจตามร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ก็ได้ร่วมประเมินสถานการณ์หลังการทำรัฐประหารของ คสช.จนถึงการสมัครและการสรรหา สปช.
ด้านนายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมบรรยายทางวิชาการถึงวิวัฒนาการการปฏิรูปการเมืองในประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี ซึ่งรัฐธรรมนูญประเทศญี่ปุ่นถือเป็นต้นแบบของ พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ที่กำลังผลักดันเข้าไปสู่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ในชุดปัจจุบัน และ ดร.จินตนา ไชยชมพู กอ.รมน.จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนสร้างความปรองดองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ขณะที่นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้กล่าวในที่ประชุมถึงสถานการณ์การปฏิรูปประเทศไทยและแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลักดันให้การปฏิรูปการเมืองเป็นที่พึงประสงค์ของประชาชนทั่วประเทศ
นายพลากรกล่าวว่า เรื่องแรกคือสถานการณ์บ้านเมืองที่ภาคประชาชนต้องกำหนดบทบาทและทิศทางการทำงานให้ชัดเจนในช่วง 2 ปีจากนี้ ต้องจัดขบวนทำงานอย่างเป็นเครือข่ายในรูปแบบสภาองค์กรชุมชน ซึ่งหน้าที่หลักคือ การเข้าไปมีส่วนร่วมสรรหา สปช.จนถึงวันที่ 2 กันยายน และส่งผู้สนใจเข้าสมัคร โดยควรให้มีโอกาสไปร่วมใน สปช.อย่างน้อยร้อยละ 10 คือ 25 คน จากทั้งสภา 250 คน
การทำภารกิจนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดี สมาชิกสภาแต่ละจังหวัดที่ได้เข้าไปร่วมเป็นกรรมการสรรหาต้องใส่ใจในการแสวงหาความรู้ด้านกฎหมายหลายด้าน เพื่อให้เกิดความพร้อมในการทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี
นายพลากรบอกว่า คนที่ได้รับการสรรหาจากระดับจังหวัด 5 คน ส่งไปให้ คสช.คัดเลือกแล้ว ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการสภาคู่ขนาน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะดำเนินการไปได้ต้องมีการพูดคุยหาแนวทางร่วมกันในระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับตำบลให้มีทิศทางการทำงานไปในทางเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นไปตามคาดหมายจะสามารถทำงานปฏิรูปภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนกลางสถาบัน พอช.ได้ส่งนายแก้ว สังข์ชู และนางสาวสมสุข บุญบัญชา ผู้ทรงคุณวุฒิ พอช. เข้าคัดเลือกสมาชิก สปช.ด้วยเช่นกัน
ประการต่อมา ต้องเร่งสร้างสภาคู่ขนานทำงานประสานกันกับ สปช. ประการที่ 3 คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประการที่ 4 การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งสภาองค์กรชุมชนในทุกจังหวัดควรมีการวางแผนทำงานระยะยาวร่วมกันตั้งแต่ระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับภาค ให้มีประสิทธิภาพต่อไป