สสส.- พอช. ร่วมจัดเวทีผู้นำชุมชนชี้ช่อง “การจัดการที่ดิน” โดยชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง แนะสำรวจพื้นที่ตนเอง ทำข้อตกลงร่วมกัน วางผังการใช้พื้นที่อย่างมีส่วนร่วม จับมือภาครัฐ - ชุมชนแก้ปัญหา
วันนี้ (13 พ.ค.) ที่ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ครั้งที่ 2 กรณี “การจัดการที่ดิน” โดยมี นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายพลากร วงค์กองแก้ว ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และ น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ร่วมสร้างความเข้าใจ “การจัดการที่ดินโดยชุมชนท้องถิ่น” มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกว่า 100 แห่ง จำนวนกว่า 250 คน ร่วมออกแบบการแปลงสู่การปฏิบัติและขยายผลแนวทางการเชื่อมโยงกับขบวนการปฏิรูปประเทศไทย
น.ส.ดวงพร กล่าวว่า การจัดงานการจัดการที่ดินเป็นงานที่ พอช. ขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่มานาน สสส. จะเข้ามาหนุนเสริมทั้งการปฏิรูปเชิงนโยบาย โดยการยกร่างกฎหมายใหม่ กระจายความรู้กระบวนการไปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง มีการขับเคลื่อนการทำข้อมูล GPS ในพื้นที่ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 2,000 ชุมชน โดยตั้งต้น พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาที่ดิน โดยจะถอดบทเรียน และขยายพื้นที่ทุกภาคของประเทศ รวมทั้งมีการพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยสร้างแกนนำทั้งนักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น หรือคนในชุมชน
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวถึงการจัดการที่ดินโดยชุมชนท้องถิ่น : อำนาจ ปัญหา และข้อเสนอเชิงนโยบาย ว่า เดิมที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่ดินยังเป็นสินทรัพย์ และเป็นแหล่งอนุรักษ์ด้วย ซึ่งการจัดการที่ดินโดยชุมชน เป็นทางเลือกใหม่ที่ควรเข้ามาแทนที่การจัดการของรัฐที่เดิมที่ใช้กลไกตลาดในการจัดการ แต่ปัจจุบันไม่สามารถใช้ศักยภาพของตลาดได้เต็มที่ เนื่องจากความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่มีความต่างกัน และทำให้มูลค่าที่ดินมีความต่างกัน ซึ่งสถานการณ์ยุค คสช. ได้เปิดช่องให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าที่เป็นพื้นที่ทำกิน โดยจัดเป็นสหกรณ์ และให้จัดการกันเอง ภายใต้เงื่อนไขขนาดถือครองที่กำหนด ขณะนี้กฎหมายเปิดช่องให้ใช้โอกาสใหม่ จัดทำฐานข้อมูลที่ดินสาธารณะต่างๆ และการครอบครองในพื้นที่ กรณีตรวจสอบที่ราชพัสดุ หากมีเช่ามาให้ประชาชนที่ยากจนเช่าได้ ให้ทำฐานข้อมูลไว้ด้วย และจัดรูปที่ดิน เพื่อทำแผนที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้ เสนอให้มี พ.ร.บ. การจัดทรัพยากรธรรมชาติระดับท้องถิ่นขึ้นใหม่ ให้กระบวนการตรวจสอบ อปท. เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ. ให้การใช้อำนาจของ อปท. มีขั้นตอนตามศักยภาพและความพร้อม ยกระดับการถ่ายทอดความรู้ให้ อปท. มีการระบุบทบาทอย่าชัดเจนของ อปท. และสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ดินโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อบต.แม่ทา มีการจัดทำข้อมูลในพื้นที่ โดยนำมาวางแผนร่วมกันในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม โดยจัดพื้นที่การใช้สอยไม่ให้มีโรงแรม รีสอร์ต แต่มีเป้าหมายให้เป็นพื้นที่ที่ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ให้คนในชุมชน ซึ่งกระบวนการหลังจากได้รับมอบที่ดินจากรัฐให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ทาง อบต. ได้มีการลงพื้นที่และวางแผนในเรื่องการให้ความรู้และการทำความเข้าใจกับชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างในช่วงดำเนินการโดยมีผลตอบรับที่ดีจากคนในชุมชน
“ส่วนการจัดการที่ดินในประเทศโดยชุมชนท้องถิ่น มองว่าต้องอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและชุมชนในการหาทางออกร่วมกัน เพราะข้อมูลมีทั้งส่วนของชาวบ้านและข้อมูลภาครัฐ หากนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน มีการพูดคุย สร้างข้อตกลงร่วมกัน จะเกิดการวางแผนที่มีระบบและเท่าเทียมกัน” นายกนกศักดิ์ กล่าว