xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยันเดินหน้าทางเดินริมเจ้าพระยา ย้ำไม่กระทบระบบระบายน้ำเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการให้แล้วกว่า 14,000ล้านบาท ว่า ขั้นตอนต่อไปกรุงเทพมหานครจะต้องเดินหน้าเจรจากับกลุ่มผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำให้ออกจากพื้นที่ ในขั้นตอนนี้คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานอย่างมาก และต้องออกแบบโครงสร้างทางเดินไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศ และไม่กระทบระบบระบายน้ำของเดิม แต่มั่นใจโครงสร้างด้านวิศวกรรมจะออกแบบได้อย่างเหมาะสมแน่นอน

ส่วนปัญหาบ้านเรือนรุกล้ำพื้นที่ริมคลอง ที่เริ่มนำร่องในคลองลาดพร้าว ถือเป็นโครงการที่สำคัญซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายอย่างสูงสุด เนื่องจากลำคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ทิ้งขยะต่างๆ จำนวนมาก โดยขยะที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บได้ ไม่เฉพาะขยะเล็กน้อยเท่านั้น แต่รวมถึงขยะขนาดใหญ่ อาทิ ที่นอน ยางรถยนต์ โซฟา เหล่านี้จะไปขวางทางระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาอย่างมาก ส่วนตัวเห็นใจประชาชนที่สร้างบ้านเรือนริมคลอง บางครัวเรือนอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมจึงต้องมีผู้เสียสละ และปฏิบัติตามกฎหมาย

ขณะที่นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีกรอบวงเงินดำเนินการ 14,006 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน หากได้รับมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการผ่านกระทรวงมหาดไทย ก็จะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาในการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนและสำรวจข้อมูลผลกระทบนั้น กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม.จนถึงปัจจุบัน เป็นการลงพื้นที่แบบกลุ่มย่อยร่วมกับตัวแทนการเคหะแห่งชาติ และตัวแทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน โดยผลการรับฟังความเห็นชาวชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความเข้าใจในการดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ต่อต้าน พร้อมทั้งยินดีรับค่าชดเชยที่ทางภาครัฐจะจัดให้ โดยชาวชุมชนต้องการให้กรุงเทพมหานครประสานกับกรมธนารักษ์ เพื่อจัดหาพื้นที่ราชพัสดุ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้าไปดำเนินการโครงการก่อสร้างบ้านมั่นคง และให้รัฐบาลสนับสนุนค่าก่อสร้างบางส่วน ทั้งนี้จากการสำรวจมีชุมชนที่รุกล้ำ จำนวน 286 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 800 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น