xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลบูรณาการ 7 กระทรวง-องค์กรเอกชนร่วมแก้ปัญหา "ท้องไม่พร้อม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สตรีท้องไม่พร้อม และการแท้งที่ไม่ปลอดภัย จัดโดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) ร่วมกับแพทยสภา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายงานอนามัยวัยรุ่น เขตสุขภาพที่ 9 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการให้บริการวัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยมีแพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมกว่า 300 คน
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า แม้ว่าไทยเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการวางแผนครอบครัว เป็นที่ยอมรับนานาชาติ อัตราการเจริญพันธุ์ลดจาก 6.4 คน เป็น 1.6 คน ปี 2556 ก็ตาม แต่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ส่วนหนึ่งเกิดจากเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วขึ้น และความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการเข้าถึงสื่อที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น และไม่ได้ป้องกันสูงถึงร้อยละ 50 เนื่องจากขาดความรู้ในการคุมกำเนิด เข้าใจผิดว่ามีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียวไม่ตั้งครรภ์ หรือหากใช้ถุงยางอนามัยจะขัดขวางความรู้สึกทางเพศ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาทั้งติดกามโรคและตั้งครรภ์ตามมา ใน พ.ศ.2556 ร้อยละการคลอดบุตรในแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 14 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 17 ใน พ.ศ.2556 จำนวน 130,000 กว่าคน
ที่น่าสลดใจกว่านั้น พบว่าประเทศไทยมีเด็กหญิงอายุ 10 ขวบ คลอดบุตรปีละประมาณ 60-70 คน เนื่องจากเข้าไม่ถึงบริการทางเลือก และหากต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็เข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัย หรือถูกเจ้าหน้าที่แนะนำให้ตั้งครรภ์ต่อวัยรุ่นหรือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม จะมีความเครียดสูงกว่าการตั้งครรภ์ในหญิงที่มีความพร้อมหลายเท่าตัว ส่งผลต่อสุขภาพเด็ก เช่น น้ำหนักตัวน้อย ขาดสารอาหาร เนื่องจากแม่ขาดการเอาใจใส่ดูแล
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการทำแท้ง โดยร้อยละ 40 เป็นนักเรียนนักศึกษา และร้อยละ 60 อายุต่ำกว่า 25 ปี และไม่ได้คุมกำเนิดสูงถึงร้อยละ 70 มีแนวโน้มยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองสูงขึ้น โดยซื้อยาทำแท้งจากร้านขายยา หรืออินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ใช้ยาผิดขนาด อาจเสี่ยงอันตรายเสียชีวิตได้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันป้องกันแก้ไข
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้ ได้ให้ความสำคัญการส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ และเร่งจัดระบบป้องกันแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ เน้นการบูรณาการทำงานใกล้ชิด 7 กระทรวง เนื่องจากปัญหาและการแก้ไขต้องเชื่อมโยงกัน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และองค์กรเอกชน โดยได้จัดทำ 6 ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแบบบูรณาการ พ.ศ.2558-2567 โดยยุทธศาสตร์แรก คือ การเสริมสร้างทักษะชีวิตและเพศศึกษารอบด้านแก่วัยรุ่น 2. การเสริมสร้างบทบาทครอบครัวและชุมชนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา 3. การจัดให้มีระบบบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาล 541 แห่ง ให้บริการให้คำปรึกษา ระบบการส่งต่อ บริการคุมกำเนิดฟรี เมื่อวัยรุ่นมีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับผู้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาตรฐานสากล จะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศและขยายลงถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเพื่อบริการในชุมชน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในแม่วัยรุ่น เนื่องจากในปี2556 พบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ตั้งครรภ์ซ้ำมากถึง 15,295 คน โดยจัดทำโครงการถุงยางอนามัยแห่งชาติ ให้ประชาชนเข้าถึงทุกกลุ่ม ซึ่งจะแจกถุงยางอนามัย 53.7 ล้านชิ้น และแจกถุงยางอนามัยสตรี 1 แสนล้านชิ้น เฉพาะกลุ่มวัยรุ่นแจก 37 ล้านชิ้น เพื่อป้องกันทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกโรคและการตั้งครรภ์ด้วย และให้วัยรุ่นได้เข้าถึงการคุมกำเนิดกึ่งถาวร ทั้งยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัย
ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 4 คือการจัดให้มีระบบช่วยเหลือดูแลและบำบัดฟื้นฟูให้สวัสดิการทางสังคมแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตร 5.มีการสื่อสารและส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม ค่านิยมทัศนคติที่เหมาะสม และยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ การจัดกลไกเชื่อมประสาน ขับเคลื่อนนโยบาย กำกับติดตามเฝ้าระวัง ประเมินผล ระดับประเทศและพื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
กำลังโหลดความคิดเห็น