มาตรการการป้องกันตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยในโรงเรียน มาตรการนี้เป็นประโยชน์ต่อเด็กจริงหรือ? เพราะหากมองอีกด้านถือเป็นดาบ 2 คม ที่อาจกระตุ้นให้เด็กหันมาสนใจการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรยิ่งกว่าเดิมหรือไม่?
เพศสัมพันธ์ เรื่องละเอียดอ่อนที่ใกล้ตัว!
หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเชื้อHIV โดยเป็นการรณรงค์เพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรค และยังมีแนวคิดไปถึงการติดตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยแบบหยอดเหรียญในสถานศึกษา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดูแลเรื่องนี้ โดยจะเริ่มดำเนินการในสถานศึกษาที่มีความพร้อมก่อน
เมื่อมีมาตรการดังกล่าวออกมา ทางด้าน “กมล รอดคล้าย” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์สำนักหนึ่งว่า ไม่เห็นด้วย หากสธ.จะทำเรื่องขอติดตั้งตู้ถุงยางมาที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะไม่อนุญาตแน่นอน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีโรงเรียนไหนทำเรื่องขอติดตั้งตู้ถุงยางในสถานศึกษาเลย
ทั้งนี้ การติดตั้งตู้ถุงยางส่วนใหญ่จะอยู่ในห้องน้ำสาธารณะหรือสถานบันเทิง หากต้องมาติดตั้งในโรงเรียน เกรงว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เด็กสนใจเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องถูกต้องหากจะดำเนินการในลักษณะนี้
ล่าสุด "พญ.ปิยธิดา สมุทระประภูต" ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคเอดส์วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย (สนอ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดเผยว่า เรื่องการติดตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยใน โรงเรียนถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ในส่วนของสถานศึกษาสังกัด กทม.นั้น ผู้บริหาร กทม.สามารถพิจารณาได้เองว่าจะดำเนินการอย่างไร จะยึดแนวทางของ ศธ.ที่ขณะนี้ยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวหรือพิจารณาแนวทางเอง
ในความคิดเห็นส่วนตัว การตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยในสถานศึกษาค่อนข้างเป็นประโยชน์ โดยมองจากสถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของเยาวชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และราคาถุงยางอนามัยในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูงและเด็กเองอาจจะเกิดความอายหากต้องซื้อถุงยางจากร้านสะดวกซื้อ เหตุนี้เองจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนไม่ป้องกัน เพราะฉะนั้น คิดว่าการติดตั้งตู้ถุงยางอนามัยในห้องน้ำที่โรงเรียน จะทำให้เยาวชนมีการป้องกันมากขึ้น
ไม่ได้กระตุ้น แต่ห้ามธรรมชาติไม่ได้!
จากประเด็นดังกล่าวนี้เอง “ธวัชชัย พาชื่น” เจ้าหน้าที่องค์การแพธประเทศไทย (ผู้ทำหลักสูตรเพศศึกษาในโรงเรียน) จึงให้ความคิดเห็นกับทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive ว่าการตั้งตู้ถุงยางอนามัยในโรงเรียนถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เขาไม่ได้มองว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ที่เด็กมีประจำเดือนหรือผลิตอสุจิได้ นั่นถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ
“จริงๆ โครงการนี้มันไม่ได้เพิ่งเริ่มนะ มันเคยมีโครงการนี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แล้วก็ทางกระทรวงสาธาณสุขเองก็พยายามผลักดันมาตั้งนานแล้ว คิดว่าไม่ใชเรื่องใหม่ ส่วนมันจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ถ้ามองในมุมผม ยังไงก็แล้วแต่มันก็เป็นประโยชน์
คือถ้าการตั้งตู้ถุงยางแล้วจะมาเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น อันนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะว่าเรื่องเพศกับเรื่องเด็ก เมื่อไหร่ที่เด็กมีประจำเดือนหรือผลิตอสุจิได้มันมากับอารมณ์ทางเพศอันนี้คือตัวชี้วัด แต่คุณไปห้ามธรรมชาติของเด็กไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องกระตุ้น แต่ถ้าอารมณ์ทางเพศมันมาแล้วคุณจะจัดการกับมันยังไง”
หากไม่ให้ตั้งตู้ถุงยางอนามัยในโรงเรียน ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะไม่มีเพศสัมพันธ์ เพราะเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้แม้จะอยู่ในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนก็ตาม
“ถึงแม้ว่าไม่ให้เอาตู้ถุงยางอยู่ในโรงเรียน ไม่ได้แปลว่าเด็กจะไม่มีเพศสัมพันธ์ มันคนละเรื่องกัน มันไม่เกี่ยวกันเลย มันเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะอยู่ในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน แต่ประเด็นคือคุณกลัวต่างหากที่คนจะมอง กลัวสังคมมอง แต่ว่าจะช่วยเด็กจริง ในข่าวบอกว่าอัตราการติดเชื้อของเด็กมันก็เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็คืออย่างที่ผมบอกถุงยางคือเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดเดียวที่ป้องกันทั้งโรคและท้อง”
ยุคสมัยในปัจจุบัน ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่บางท่านต้องยอมรับและอย่าปิดกั้น ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติจะดีกว่า เพราะเรื่องเพศศึกษากับวัยรุ่นถือเป็นเรื่องปกติ
“คุณไม่รู้ว่าเด็กมีเพศสัมพันธ์เมื่อไหร่ คุณจะไปบอกว่าไม่ควรเอาถุงยางให้เด็กหรือไม่ควรที่จะให้เด็กยุ่งเรื่องนี้มันเป็นเรื่องผู้ใหญ่เข้าใจผิด ซึ่งตอนนี้มันเปลี่ยนไปมากนะผมว่าคนคิดแบบนี้มันไม่เท่าทันข้อมูลนะครับ แล้วถ้าเอาไปติดในโรงเรียนก็กลัวจะโดนมองว่าทำไมไปส่งเสริม ผมคิดว่าเรื่องตู้ถุงยางมันเป็นแค่เรื่องเดียวเองนะ ส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องวิธีคิดจะตั้งได้หรือตั้งไม่ได้ ผมคิดว่าการตั้งมันเป็นประโยชน์แน่ๆ แต่ประเด็นคือคนจะกล้าตั้งหรือเปล่าเท่านั้นเอง”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754