xs
xsm
sm
md
lg

“แพ้ยางธรรมชาติ” โรคใกล้ตัวเสี่ยงตายมากกว่าที่คิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นพ.ธนวรรธน์ เครือคล้าย
อายุรแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันทางคลินิก
โรงพยาบาลเวชธานี

“โรคภูมิแพ้” นับได้ว่าเป็นโรคที่เป็นกันมากในปัจจุบัน ทั้งแพ้อากาศ หอบหืด หรือ แม้กระทั่งส่วนประกอบของอาหารบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ เช่น กล้วย ขนุน ฯลฯ บางครั้งอาการแพ้อาจจะรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิต การแพ้ผลไม้นั้นเชื่อมโยงไปถึงแพ้ยางพาราธรรมชาติ หรือเรียกว่า “ภูมิแพ้ลาเท็กซ์” นพ.ธนวรรธน์ เครือคล้าย อายุรแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงโรคดังกล่าวว่า ภูมิแพ้ลาเท็กซ์เกิดจากการแพ้ “โปรตีนลาเท็กซ์” หรือโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งเมื่อร่างกายสัมผัสกับยางพาราธรรมชาติ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้ร่างกายมีโอกาสได้สัมผัสกับโปรตีนในยางธรรมชาติผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต่อยางธรรมชาติ และเมื่อร่างกายได้สัมผัสกับยางธรรมชาติอีกในภายหลังจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ขึ้น เนื่องจากยางพาราเป็นพืช โปรตีนในยางจึงจะไปคล้ายกับพืชผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย อโวคาโด กีวี มันฝรั่ง มะเขือเทศ เกาลัด มะละกอ ฯลฯ ทำให้คนที่แพ้ยางธรรมชาติแพ้ผลไม้บางชนิดไปด้วยในภายหลัง

“บางครั้งเราอาจคาดไม่ถึงว่าในชีวิตประจำวันนั้นเราสัมผัสกับยางธรรมชาติมากขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน รองเท้า ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย หนังสติ๊ก ลูกโป่ง รวมถึงวัสดุทางการแพทย์ ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลบางอาชีพต้องสัมผัสกับยางธรรมชาติมากเป็นพิเศษ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ช่างเสริมสวย ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงในการแพ้ยางธรรมชาติมากกว่ากลุ่มอื่น”

สำหรับอาการแพ้นั้น นพ.ธนวรรธน์กล่าวว่า มีหลายรูปแบบ เช่น การระคายเคือง เป็นผื่นลมพิษซึ่งเกิดขึ้นภายใน 10-15 นาทีหลังจากสัมผัสยางธรรมชาติ ในบางรายมีการสูดดมเอาละอองของยางธรรมชาติเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการคล้ายหอบหืด และแพ้อากาศ หากมีอาการแพ้รุนแรงกว่านั้นคือ เกิดภาวะแพ้แบบ อนาไฟแล็กซีส (Anaphylaxis) ซึ่งหมายถึงการแพ้ขั้นรุนแรง เช่น ทางผิวหนัง จะมีผื่นลมพิษหรือผื่นแดงกระจายที่ร่างกาย ตาบวม ปากบวม ระบบทางเดินหายใจอาจมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงวี้ด ส่วนในระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง และในระบบไหลเวียนโลหิต อาจมีอาการความดันตก วูบ มึนศีรษะ หรืออาจรุนแรงมากจนถึงขั้นหมดสติ

ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้ยางธรรมชาติหรือไม่นั้น นพ.ธนวรรธน์กล่าวว่า ผู้ที่สงสัยสามารถมาพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบทางผิวหนัง โดยการหยดน้ำยาทดสอบ หลังจากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กสะกิดบริเวณผิวหลังที่หยดน้ำยาทิ้งไว้ 15-20 นาที แล้วอ่านผล หากมีอาการแพ้ผิวหนังบริเวณที่ทดสอบจะนูนแดงขึ้น หรืออีกวิธีหนึ่งคือการตรวจเลือดหาแอนติบอดีจำเพาะ (Serum specific Ig E) ที่มีปฏิกริยาต่อยางธรรมชาติ

นพ.ธนวรรธน์กล่าวถึงการดูแลรักษาว่า ผู้ป่วยที่แพ้รุนแรงมีอาการหลายระบบ ทุกรายต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการแพ้ผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย จำเป็นจะต้องนึกถึงการแพ้ยางธรรมชาติด้วย ในขณะผู้ป่วยกลุ่มที่มาด้วยอาการแพ้ยางธรรมชาติก็ต้องเฝ้าระวังการแพ้ข้ามกลุ่มยังผลไม้บางชนิด แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำจากยางพาราธรรมชาติ เช่น หนังยางรัดผม รองเท้าแตะ สายนาฬิกา ถุงยางอนามัย เป็นต้น นอกจากนั้น ในด้านผู้ป่วยที่แพ้ยางธรรมชาติหากมีเหตุเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จำเป็นต้องแจ้งแก่แพทย์และพยาบาลทุกครั้งถึงอาการแพ้ เพื่อป้องกันการใช้ผลิตภัณฑ์และวัสดุในการรักษาที่ทำมาจากยางธรรมชาติ เนื่องจากในโรงพยาบาลมักจะเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่มียางเป็นส่วนประกอบ เช่น ถุงมือตรวจโรค จุกปิดขวดยาฉีด สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการแพ้ยางพาราธรรมชาติ ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำมาจากยางธรรมชาติ รวมไปถึงต้องระมัดระวังการรับประทานผลไม้บางชนิด
นพ.ธนวรรธน์ เครือคล้าย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น