xs
xsm
sm
md
lg

เตือน "เด็กติดจอ" เสี่ยงโรคกระดูกพรุน แนะออกกำลังกาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.น.พ.พงษ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การป้องกันภาวะกระดูกและมวลกล้ามเนื้อลดลงในผู้สูงวัย ในส่วนของมวลกระดูกต้องพิจารณาตั้งแต่วัยเด็ก กล่าวคือ หากวัยเด็กมีการวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้นสม่ำเสมอ รับแสงแดดยามเช้าอย่างพอเหมาะ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอ ประกอบมีพันธุกรรมที่พ่อแม่มีมวลกระดูกที่ดี บุคคลนั้นก็จะมีมวลกระดูกที่ดี โดยมวลกระดูกสูงสุดจะอยู่ในช่วงอายุ 30ปี จากนั้นมวลกระดูกจะลดลงราว 0.3-0.5 % ต่อปี และหากลดลงถึง 30% ถือว่ามีภาวะกระดูกพรุน ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลา 60 ปี ภาวะกระดูกพรุนจึงมักพบในผู้สูงอายุ โดยพบว่าผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1 ใน 3 ขณะที่ผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป ราว 1 ใน 4 มีภาวะกระดูกพรุน การรักษาจะให้รับประทานยาที่คล้ายฮอร์โมนเพื่อลดการสูญเสียของมวลกระดูก ป้องกันกระดูกบาง และต้องลดความเสี่ยงในการที่จะทำให้กระดูกหัก โดยเฉพาะสะโพก ข้อมือและกระดูกสันหลัง
สำหรับการป้องกันภาวะกระดูกและมวลกล้ามเนื้อลดลง ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ให้เด็กได้วิ่งเล่น ออกกำลังกาย เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีและสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูกและมวลกล้ามเนื้อ ไม่ใช่นั่งแต่เฉพาะหน้าคอมพิวเตอร์ หลบอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน โดยไม่ได้รับแสงแดดที่เหมาะสม เพราะหากมีพฤติกรรมเช่นนี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อสูงวัยขึ้น มีโอกาสเสี่ยงที่กระดูกพรุนสูงกว่ากลุ่มเด็กที่ได้วิ่งเล่น รับแสงแดด
ทั้งนี้ มีการศึกษาของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ทำการเจาะเลือดวัดปริมาณวิตามินดี พบว่า คนอายุ 18-24 ปีต่ำที่สุด อาจเป็นเพราะวัยรุ่นไม่ถูกแดด ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งจะมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน ส่วนการป้องกันในคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรให้ร่างกายได้รับแสงแดดสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายที่เหมาะสมเพียงพอ นอกจากนี้ ผู้หญิงถ้ารักษาการมีประจำเดือนจนถึงอายุประมาณ 50 ปี ร่างกายจะมีฮอร์โมนนาน ช่วยส่งเสริมให้ไม่เกิดภาวะกระดูกพรุนเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น