xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห่วงเด็กไทยเป็น"โรคอ้วน" ชี้เสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) เปิดเผยว่า จากรายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ในปี 2546 พบเด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนร้อยละ 13.6 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.7 และร้อยละ 17 ในปี 2553 และ ปี 2554 โรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกินในเด็กมีผลกระทบต่อทั้งพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม และเป็นปัญหาสาธารณสุขเร่งด่วนที่ต้องควบคุมและป้องกัน ปัจจัยสำคัญของภาวะโภชนาการเกิน คือ การบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วนและปริมาณที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เด็กวัยเรียนมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี ผลการวิจัยหลายแหล่งพบว่าเด็กที่เป็นโรคอ้วน 1 ใน 3 จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน ซึ่งโรคอ้วนนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง MOPH-TUC (Thailand Ministry of public health- U.S. CDC Collaboration) โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้จัดทำแนวทางการควบคุมโรคไม่ติดต่อจากการบริโภคเกลือและไขมันในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกาย โดยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูในโรงเรียนประถมศึกษา เรื่อง เมนูชูสุขภาพ ลดเค็ม ลดมัน เพื่อให้ครูที่รับผิดชอบงานโภชนาการ ครูอนามัยในโรงเรียนระดับประถมศึกษาจัดทำอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการลดเค็ม ลดมันให้กับเด็กในโรงเรียน
ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมควรปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็ก เพื่อป้องกันการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สมดุล ปลอดภัย ขาดการออกกำลังกายและมีภาวะเครียดสะสมจนส่งผลต่อสุขภาพ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น