xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยเตี้ยมาก หนุ่มสาววัย18 สูง157-167ซม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เด็กไทยเตี้ยมาก ผลสำรวจพบเมื่อมีอายุ 18 ปี ผู้ชายจะสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร ผู้หญิง 157 เซนติเมตร กรมอนามัยชี้เป็นเพราะดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยแค่ 14 ลิตรต่อปี ต่ำกว่าอาเซียนและโลก 4-7 เท่า แนะเด็กต้องดื่มนมวันละ 2 แก้ว ช่วยสร้างแคลเซี่ยม แต่ต้องออกกำลังช่วยยืดความสูงด้วย ระบุมื้อเช้าก็สำคัญ พ่อแม่ต้องใส่ใจ

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพบว่าเด็กไทยเมื่อมีอายุ 18 ปี มีความสูงเฉลี่ยค่อนข้างเตี้ย โดยผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร เพราะเด็กไทยดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี ขณะที่อัตราการดื่มนมในอาเซียนเฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี ทั่วโลกเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี กล่าวได้ว่าอัตราดื่มนมคนไทยยังต่ำกว่าอาเซียนและโลก 4-7 เท่า

"นมเป็นเครื่องดื่มที่มีโปรตีนที่มีคุณภาพและแคลเซียมที่ดี ทำหน้าที่สร้างการเจริญเติบโตของร่างกายในเด็ก ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งต้องสนับสนุนให้เด็กไทยมีการดื่มนมเพิ่มมากขึ้น"นพ.พรเทพกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลการศึกษาของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า นมโคสดแท้ ปริมาณ 100 มิลลิลิตร ให้สารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ แคลเซียม 135 มิลลิกรัม โปรตีน 3.3 กรัม วิตามินเอ 71 มิลลิกรัม และวิตามินอี 0.22 มิลลิกรัม และมีผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการดื่มนมวันละประมาณ 2 แก้ว ร่วมกับการออกกำลังกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ บาสเก็ตบอล และโหนบาร์ จะช่วยเพิ่มความสูงได้ โดยเด็กก่อนวัยเรียนควรดื่มนมชนิดธรรมดาวันละ 2-3 แก้ว เด็กวัยเรียนดื่มวันละ 2 แก้ว ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือแนะนำให้ดื่มนมหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 1 แก้ว

นพ.พรเทพกล่าวว่า อาหารเช้าก็ถือเป็นมื้อสำคัญอย่างมาก เพราะช่วงนอนหลับตอนกลางคืน ร่างกายก็ยังเผาผลาญสารอาหารตามปกติ หากไม่กินอาหารเช้าจะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำลง อ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่มีความต้องการพลังงานและสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโต หากไม่กินอาหารเช้าจะส่งผลทำให้ร่างกายแคระแกรน สติปัญญาทึบ ง่วงซึม ไม่มีสมาธิ ไม่มีความพร้อมในการเรียน ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการทำงานต่ำ ร่างกายอ่อนแรงอาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลม และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะ

โดยจากผลการสำรวจพฤติกรรมไม่กินอาหารเช้าของเด็กวัยเรียนอายุ 6-11 ปี พบว่า ไม่กินอาหารเช้า ร้อยละ 30 และเด็กนักเรียนหญิงอายุ 12-14 ปี ไม่กินอาหารเช้า ถึงร้อยละ 52 ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรเอาใจใส่จัดเตรียมอาหารเช้าสำหรับเด็ก หากไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าเอง ก็ควรจะเพิ่มเวลาซัก 10-20 นาที เพื่อออกไปเลือกเมนูอาหารเช้าที่มีคุณค่าโภชนาการ หาซื้อง่าย สะดวกในการรับประทานนอกบ้าน และควรเสริมด้วยการดื่มนม 1 แก้วหลังมื้อเช้าด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น