xs
xsm
sm
md
lg

"คำนูณ" FB : ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ - สถาปนิกสังคมไทย !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฃ้าวันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn เรื่องศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ - สถาปนิกสังคมไทย ! โดยมีรายละเอียดดังนี้

ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ - สถาปนิกสังคมไทย !

วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2557 เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป จะมีการเสวนาทางวิชาการที่อาคารบุญชนะ อัตถากร ชั้น 4 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อเป็นเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบอายุ 84 ปีของศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ภายใต้หัวข้อที่ตั้งไว้ว่า

“ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ สถาปนิกสังคมไทย”

เคยเขียนเล่าหลายครั้งในรอบหลายปีมานี้แล้วว่าท่านผู้นี้ได้รับการยกย่องว่าบิดาแห่งวิชากฎหมายมหาชนยุคใหม่ เป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนนิติศาสตร์ยุคหลังปี 2516 เลือกรับทุนไปศึกษาต่อวิชากฎหมายมหาชนแล้วกลับมาเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ ท่านยังเป็นผู้วางรากฐานศาลปกครองมายาวนานตั้งแต่ปี 2522 สมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยุคที่ยกระดับเป็นองค์กรอิสระหลังปี 2540 ส่วนในทางการเมืองนั้นท่านก็ยืนหยัดเสนอแนวทางการปฏิรูปการเมืองด้วยการทำลายระบอบเผด็จการรัฐสภามาต่อเนื่องกันกว่า 20 ปีอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย

งานจะเริ่มด้วยการปาฐกถาพิเศษของท่านในหัวข้อที่เข้ากับยุคสมัยที่พี่น้องไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

“การปฏิรูปสถาบันการเมืองของไทย”

จากนั้นจึงจะตามด้วยการเสวนาทางวิชาการหัวข้อที่ตั้งชื่อไว้อย่างเป็นทางการ “ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ สถาปนิกสังคมไทย” ด้วยผู้อภิปรายผู้ทรงคุณวุฒิที่รู้จักและเข้าใจท่านดีในแต่ละด้าน กล่าวคือ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ (ด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองในภาพรวม), ศ.(พิเศษ)ดร.อักขราธร จุฬารัตน์ (ด้านคณะกรรมการกฤษฎีกาและศาลปกครอง), พิศิษฐ์ ลีลาชิโรภาส (ด้านสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน)

และผมคำนูณ สิทธิสมานได้รับเกียรติให้ร่วมขึ้นเวทีเสวนาด้วยในฐานะที่ติดตามและอรรถาธิบายแนวคิดการปฏิรูปการเมืองของท่านมากว่า 20 ปี

ทั้งนี้โดยมีผศ.ดร.นนทวัฒน์ นวตระกูลพิสุทธิ์เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ในงานจะมีการแจกหนังสือทรงคุณค่าที่เหล่าลูกศิษย์ของท่านช่วยกันจัดทำขึ้นบูชาคุณครูในโอกาสมงคลยิ่งนี้

ในการเสวนาผมจะเล่าให้ฟังว่านับแต่ปี 2535 เป็นอย่างต่ำท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์เสนอแนวทางการปฏิรูปการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ตรงไปตรงมา มั่นคงในจุดยืน

การปฏิรูปทางการเมืองในเบื้องต้นสุดคือการทำลายสิ่งที่ท่านเรียกว่า...

“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาประเทศแรกและประเทศเดียวในโลก”

การปกครองของประเทศไทยที่เราเรียกกันว่า “ระบอบประชาธิปไตย” นั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่

อันที่จริงท่านชี้ให้เห็นมาตั้งแต่ปี 2537 แล้วว่าเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาทั่วโลกที่เริ่มแปรเปลี่ยนตามพัฒนาการของสังคมจาก “ระบบรัฐสภาอำนาจคู่” ในยุคแรกที่สภาเป็นตัวแทนในการถ่วงดุลและคานอำนาจกษัตริย์(ยุโรป) มาเป็น “ระบบรัฐสภาอำนาจเดี่ยว” หลังกษัตริย์(ยุโรป)ลดอำนาจลดบทบาทลงและมีระบบพรรคการเมืองเกิดขึ้น ประเทศในยุโรปประสบความเสียหายจากความเป็นระบบเผด็จการโดยธรรมชาติของระบบรัฐสภาอำนาจเดี่ยวนี้จนกระทั่งมีการปฏิรูปการเมืองใหญ่ในหลากหลายแนวทางหลังสงครามโลกที่ 2 ที่ก่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่า Rationalized Democracy หรือนัยหนึ่งระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาแบบที่ได้รับการปฏิรูปให้มีเหตุผล

แต่ประเทศไทยกลับดำเนินการตรงกันข้าม คือเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองฯนี้เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2517 และเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสมบูรณ์ในปี 2535

ท่านกล่าวเสียดสีได้เจ็บปวดว่ารูปแบบการปกครองในโลกนี้มี 4 ระบบ คือ ระบบประธานาธิบดี, ระบบรัฐสภา, ระบบผสมหรือระบบกึ่งประธานาธิบดี และระบบเผด็จการโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศไทยสร้างระบบที่ 5 ขึ้นมาเอง โดยท่านได้แสดงหลักฐานตัวอย่างรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ไว้ครบถ้วยในงานเขียนหลายชิ้น

ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกนี้แสดงออกผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 3 บทบัญญัติ หรือ 3 ต้อง

- บังคับให้ผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง
- บังคับให้ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรค หากฝ่าฝืนต้องพ้นตำแหน่ง
- บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เท่านั้น

สามารถศึกษาได้โดยผ่านพัฒนาการรัฐธรรมนูญ 3 ระยะ คือ ระยะก่อนปี 2517 ที่ยังไม่มีบทบัญญัติบังคับผู้สมัครส.ส.สังกัดพรรค, ระยะ 2517 – 2535 ที่เริ่มมีบทบัญญัติบังคับผู้สมัครส.ส.สังกัดพรรค และระยะสุดท้ายหลังปี 2535 ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 เป็นต้นมาที่กลายพันธุ์สมบูรณ์แบบเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาประเทศแรกและประเทศเดียวในโลก

ท่านไม่ได้กล่าวลอย ๆ แต่ได้แสดงให้เห็นว่ามีปรากฏรูปธรรมชัดเจนใน 2 มาตรา คือมาตราว่าด้วยสถานภาพของส.ส.และส.ว. และมาตราคำปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ของส.ส.และส.ว.

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย (ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ) และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย” - สถานภาพ

“ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า (จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ) เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ทุกประการ” - คำปฏิญาณตน

ส่วนที่อยู่ในวงเล็บคือ "ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ" และ "จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ" คือส่วนที่หายไปหลังปี 2535 แม้ในรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีกลับมาบางส่วนแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

ท่านจึงกล่าวไว้เป็นคำคมในงานเขียนตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีก่อนแล้วว่า...

การเลือกตั้งในประเทศไทยไม่ใช่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่เป็นการเลือกตั้งตัวแทนของพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ) เพื่อยกมือตามมติของพรรคการเมือง !

อันเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพทางการเมืองพื้นฐาน 2 ประการ คือ สิทธิในการสมัครส.ส. และสิทธิในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนโดยอิสระตามมโนธรรมของตนโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติมอบหมายใด

แล้วจะไม่ให้เรียกว่าระบบเผด็จการได้อย่างไร

“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ) เปรียบเสมือนการตั้งโต๊ะ (อาหาร) ไว้รอให้บรรดานายทุนรวมทุนกันจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อเข้ามากินบุฟเฟ่ต์ (ผูกขาดอำนาจรัฐและคอร์รัปชั่น)”

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ไม่ได้ติอย่างเดียว หากแต่เสนอตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนของการปฏิรูปการเมืองเพื่อทำลายระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกนี้แนวนี้มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 แต่ผู้มีอำนาจรัฐในแต่ละยุคแต่ละสมัยไม่เคยเหลียวแล

ล่าสุดในช่วงของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ท่านก็ได้เสนอแนวคิดพื้นฐานและตัวอย่างรูปธรรมอีกครั้ง แต่ที่สุดแล้วผลลัพธ์ไม่น่าจะแตกต่างไปจากเดิม....

ถ้าว่าง – พบกันที่นิด้าบ่ายโมงจันทร์ 4 สิงหาคมครับ !
กำลังโหลดความคิดเห็น