xs
xsm
sm
md
lg

คลังสหรัฐฯเร่งสภาเพิ่มเพดานหนี้ เตือนอาจผิดนัดชำระสิ้นเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีคลัง จาค็อบ ลูว์ ของสหรัฐฯ ออกโรงเตือนคองเกรสเมื่อวันจันทร์ (3 ก.พ.) อย่ามัวยื่นเงื่อนไขต่อรองให้รัฐบาลตัดลดงบประมาณรายจ่าย แต่ควรเร่งตกลงกันให้ได้เพื่อขยายเพดานการก่อหนี้ เนื่องจากอำนาจการกู้ยืมของรัฐบาลกำลังจะหมดลงไปในวันศุกร์นี้ (7) อย่างไรก็ดี สื่ออเมริกันระบุว่า พวกนักลงทุนเชื่อสมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันยังเข็ดขยาดจากการดันทุรังหนก่อนจนกลายเป็น “วิกฤตชัตดาวน์” รวมทั้งการที่ปีนี้ยังเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งกลางเทอม ดังนั้นจึงไม่น่าจะกล้าเสี่ยงขัดขวางการยืดเพดานการก่อหนี้ในครั้งนี้

ลูว์ ระบุในร่างสุนทรพน์ที่เขาเตรียมพูดต่อที่ประชุมของ “ไบพาร์ทิซัน โพลิซี เซนเตอร์” ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ (3) ว่า รัฐสภาจำเป็นต้องลงมติขยายเพดานการกู้ยืมหนี้ของรัฐบาลทันที เนื่องจากอำนาจดังกล่าวกำลังจะหมดลงในอีกไม่กี่วัน ทำให้กระทรวงการคลังต้องริเริ่มมาตรการพิเศษเพื่อให้รัฐบาลมีเงินไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ

ขุนคลังแดนอินทรียังตั้งข้อสังเกตว่า การหมดอำนาจที่จะขยายเพดานการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอีกหลังจากวันที่ 7 นี้ จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับฤดูการจ่ายคืนภาษี ซึ่งจะทำให้เงินสดสุทธิของรัฐบาลไหลออก และความสามารถในการก่อหนี้ถดถอยลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งคงจะหมดลงไปภายในสิ้นเดือนนี้

ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดในกฎหมายที่ใช้บังคับฉบับปัจจุบัน เมื่อถึงเส้นตายวันศุกร์ที่ 7 ก.พ.นี้ เพดานการกู้ยืมของรัฐบาลจะถูกจำกัดให้อยู่ที่จำนวนรวมที่กู้ยืมทั้งหมด ณ วันนั้น ห้ามขยับขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก และต้องหาทางกู้เงินด้วยวิธีต่างๆ เพื่อนำมาใช้จ่าย สำหรับยอดหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 17.3 ล้านล้านดอลลาร์

ลูว์แสดงความยินดีที่ก่อนหน้านี้รัฐสภาสามารถทำความตกลงกันได้ในเรื่องร่างงบประมาณ หลังจากที่เคยเกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองกระทั่งต้องปิดหน่วยงานมากมายของรัฐบาลหรือที่เรียกว่า วิกฤตชัตดาวน์ ถึง 16 วันเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

กระนั้น เขาเตือนว่า รัฐสภาไม่ควรรั้งรออนุมัติการขยายเพดานหนี้จนกระทั่งถึงนาทีสุดท้าย เนื่องจากจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศและสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดการเงิน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การต่อสู้ในรัฐสภาในปีที่ผ่านมาฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมทั้งยังทำให้นักลงทุนตั้งข้อสงสัยอย่างเปิดเผยว่า การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ บางประเภทเป็นการลงทุนที่เสี่ยงเกินไปหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น