xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่่งควบคุมป้องกันไข้เลือดออก-รับมือหวัดนกสายพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เร่งควบคุมป้องกัน 2 โรคที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ 1.โรคไข้เลือดออก ในรอบ 15 สัปดาห์ของปี 2556 นี้ พบผู้ป่วยมากเป็น 3 เท่าของปี 2553 และ 4 เท่าของ ปี 2555 มีการคาดการณ์ว่าจะระบาดรุนแรงแน่นอน ขณะนี้พบผู้ป่วย ทุกจังหวัด และจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยช่วงนี้เป็นช่วงการป้องกัน ลดจำนวนยุงลาย แต่จากผลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นการสะท้อนความตื่นตัวในการทำงานควบคุมป้องกันโรค พบว่าขณะนี้สูงทุกจังหวัด ดังนั้นต้องประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรท้องถิ่นในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย
ในส่วนการรักษาพยาบาล ให้ทุกโรงพยาบาลเตรียมพร้อมการรักษา การส่งต่อผู้ป่วย และให้กรมการแพทย์จัดอบรม ฟื้นฟูการวินิจฉัยโรค การรักษา แก่แพทย์ โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ และให้กรมควบคุมโรคและกรมอนามัย ประสานกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมมือกำจัดลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนก่อนเปิดเทอม
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับโรค ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ที่พบผู้ป่วยในภาค ตะวันออกของจีน มีผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 126 ราย เสียชีวิต 24 ราย โดย 2 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งวอร์รูม ยกระดับเตรียมพร้อมจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ตามองค์การอนามัยโลก เนื่องจากมีข้อมูลอาจจะมีการติดต่อคนสู่คนในวงจำกัด ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงสภาพอากาศร้อน มีเวลาเตรียมการรับมือโรคนี้ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
สำหรับการป้องกันได้วางไว้ 6 มาตรการ คือ 1.เฝ้าระวังการระบาดใน 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและมีอาการปอดบวม ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยเป็นปอดบวม 2.เตรียมความพร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และภาคมหาวิทยาลัย
3.การดูแลรักษาพยาบาล มอบกรมการแพทย์ฝึกอบรม บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกจังหวัด เรื่องแนวทางการเฝ้าระวัง การรักษาและการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล เตรียมห้องแยกผู้ป่วย ตามมาตรฐานการดูแลโรค ไข้หวัดนก 4.ให้ความรู้แก่ประชาชน เน้นย้ำให้รักษาพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น ล้างมือ ผู้ป่วยให้สวมหน้ากากอนามัยและหยุดพักผ่อนอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์ ไม่นำสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติมาขายและรับประทาน 5.เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ทั้งชนิดกินและฉีด และวัสดุอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และ6.การตรวจคัดกรอง บริเวณช่องทางเข้า-ออกประเทศซึ่งจะปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยที่ขณะนี้ได้แนะนำว่ายังไม่มีความจำเป็นในการคัดกรองพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น