เชียงราย - อปท.หลายแห่งในเชียงราย เร่งรณรงค์-พ่นสารกำจัดลูกน้ำยุงลายต่อเนื่อง หลังมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทั้งที่ยังไม่ทันเข้าหน้าฝน แผมสถิติทั่วประเทศพุ่งสูงขึ้นถึง 5.4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ หลายแห่งต่างพากันออกมารณรงค์และพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายตามชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย ได้ตรวจพบผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 2 มี.ค. 56 แล้วจำนวน 157 ราย
พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อ.แม่สาย ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่นหน้าด่านพรมแดน มีผู้ป่วยกว่า 51 ราย รองลงไปคือ อ.แม่จัน จำนวนน 28 ราย อ.เทิง จำนวน 27 ราย และ อ.เมือง จำนวน 20 รายตามลำดับ ทั้งนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย เปิดเผยว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนร้อนจัดสลับกับมีฝนทำให้ยุงลายเจริญเติบโตได้ดี และมีแนวโน้มว่าโรคไข้เลือดออก จะระบาดมากขึ้นไปอีกโดยอาจจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา
ดังนั้น ตนจึงได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้ช่วยกันเร่งออกฉีดพ่นหมอกควันทำลายเชื้อไข้เลือดออก รวมทั้งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะเกิดจากฝนตกจนทำให้น้ำขังภาชนะต่างๆ ในช่วงนี้อย่างเข้มงวด โดยกำหนดให้ดำเนินการอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง พร้อมทั้งได้มีการจัดเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ออกตรวจตราและให้ความรู้แก่ชาวบ้านแล้ว
ขณะที่สถิติจากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคพบว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 5 ก.พ. 56 พบว่า ทั่วประเทศพบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วจำนวน 5,739 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 5.4 เท่า มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และได้พยากรณ์โรคว่าปีนี้โรคไข้เลือดออกอาจรุนแรงมีผู้ป่วยมากถึงแสนราย
ด้านสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งกำจัดยุงลาย ก่อนถึงฤดูกาลระบาดในฤดูฝนนี้ นอกจากนี้ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งว่าหากพบผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุที่มี ไข้ให้คิดถึงโรคไข้เลือดออกด้วย เนื่องจากโรคนี้มีแนวโน้มพบมากขึ้นในกลุ่มเด็กโต ผู้ใหญ่และคนอ้วน ที่สำคัญคือผู้ป่วยร้อยละ 90 ไม่มีอาการแสดงโดยจะมีเพียงไข้ต่ำๆ และยังไม่มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรค แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้