xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เฝ้าระวังผู้ป่วยกลับจาก ตปท.ช่วงหยุดยาว หลังพบตายจากหวัดนกเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบต่างประเทศตายจากหวัดนกเพิ่ม ทั้ง H5N1 และ H7N9 สธ.เข้มช่วงหยุดยาวสงกรานต์ สั่ง อสม.เฝ้าระวังผู้ป่วยปอดบวมหลังกลับจากต่างประเทศ และสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ พร้อมให้ทุกโรงพยาบาลเฝ้าระวังผู้ป่วยปอดบวมรุนแรง แนะผู้เคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือผู้ป่วยปอดบวม หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ให้พบแพทย์

จากกรณีรายงานพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อไข้หวัดนก 2 สายพันธุ์ ใน 3 ประเทศเอเชีย คือ ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ H7N9 รายใหม่ที่จีนเพิ่มอีก 3 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 21 ราย เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ใน 4 มณฑล ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ อายฮุย เจ้อเจียง และเจียงจู โดยผู้ป่วยจำนวน 12 ราย มีอาการรุนแรง แต่ยังไม่พบการติดเชื้อในผู้สัมผัสกับผู้ป่วย และผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ H5N1 ที่เวียดนาม 1 ราย เป็นเด็กอายุ 4 ขวบ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนที่กัมพูชา มีรายงานในปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 แล้วจำนวน 8 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 6 ราย

ล่าสุด วันนี้ (10 เม.ย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค (คร.) ติดตามสถานการณ์โรคในต่างประเทศกับองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างใกล้ชิด โดยเชื้อไข้หวัดนกทั้ง 2 สายพันธุ์ล้วนอยู่ในตระกูลของไข้หวัดใหญ่ชนิดเอทั้งคู่ จากข้อมูลทั่วโลกขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานการแพร่จากคนสู่คน ส่วนยารักษาผู้ป่วยที่มีใช้อยู่ขณะนี้ยังใช้ได้ผลดี คือ ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์และซานามิเวียร์ ทั้งนี้ สธ.ได้ประชุมปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญร่วมกับ กรมปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญจาก WHO ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกา ด้านสาธารณสุข เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดนกทั้ง 2 สายพันธุ์

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า แม้ประเทศไทยจะยังไม่เคยพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 และไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในประเทศติดต่อกันมาเกือบ 7 ปี รวมถึงไม่พบการติดเชื้อในสัตว์ปีกตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา แต่สถานการณ์การติดเชื้อในคนของต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น สธ.จึงเน้นมาตรการเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม สามารถตรวจจับการระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งมีวันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วัน ประชาชนอาจมีการเดินทางไปเที่ยวที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ จึงได้สั่งการให้อาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ขอให้แจ้งปศุสัตว์ เพื่อเก็บซากสัตว์ปีกไปตรวจหาเชื้อ และหากพบผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และมีอาการปอดบวม ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

“นอกจากนี้ ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งและโรงพยาบาลเอกชนเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมรุนแรงทุกราย เพื่อซักประวัติคัดแยกว่าติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ โดยขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งมีความพร้อมการตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนกตลอด 24 ชั่วโมง และ สธ.ได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง และสำรองไว้ส่วนกลางประมาณ 4 ล้านเม็ด” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า ขณะนี้ WHO ได้ให้ทุกประเทศติดตามเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีข้อห้ามการเดินทางไปต่างประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้เดินทางและประชาชนทั่วไปยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ แต่ขอเน้นย้ำให้ยึดหลักปฏิบัติตัวการป้องกันโรค คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีก รวมทั้งนกตามธรรมชาติ หากผู้เดินทางมีอาการป่วยคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ขอให้รีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องตามแนวทางที่ สธ.กำหนด

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนทั่วไป มีคำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดนกทั้ง 2 สายพันธุ์ ดังนี้ 1.รับประทานเนื้อสัตว์ปีกและไข่ที่สุกแล้ว 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย โดยเฉพาะเด็กๆ 3.ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 4.หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีก ให้สวมหน้ากากอนามัยและสวมถุงมือทุกครั้ง 5.ล้างมือบ่อยๆ และทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ 6.หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือสัมผัสผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการการสัมผัสสัตว์ปีกให้แพทย์ทราบด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีในการดูแลรักษา

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดี คร.กล่าวว่า ปัจจุบัน WHO ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทาง เพราะยังไม่พบข้อมูลว่าไข้หวัด H7N9 นั้น ติดต่อจากคนสู่คน โดย คร.มีการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้ สำหรับการเดินทางเข้าออกประเทศนั้น ยังไม่มีมาตรการพิเศษแต่อย่างใด แต่อาจจะทำหนังสือไปยังบริษัททัวร์ต่างๆ หากพบว่าลูกค้าที่เข้ามามีอาการป่วย คล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ขอให้นำส่งโรงพยาบาลและแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อให้สามารถช่วยรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกังวลเพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการติดต่อจากคนสู่คน ส่วนผู้ที่เดินทางกลับมาจากรัฐที่มีความเสี่ยง หากมีอาการคล้ายหวัดใหญ่ ไข้สูง ก็ขอให้แจ้งประวัติการเดินทางด้วย เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น