xs
xsm
sm
md
lg

ระดมผู้เชี่ยวชาญถกรับมือหวัดนก เน้นมาตรการเดิมแต่เข้มข้นขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระดมผู้เชี่ยวชาญเตรียมรับมือหวัดนก H7N9 เน้นตรวจจับการระบาดและเฝ้าระวังให้เข้มข้นขึ้น ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้การป้องกันโรคไข้หวัดนกให้ ปชช.พร้อมแนะหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีก หากพบเห็นสัตว์ปีกป่วยตายให้แจ้งปศุสัตว์ หรือ สธ.

วันนี้ (4 เม.ย.) รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวภายหลังการประชุมหารือแนวทางเตรียมความพร้อมกรณีพบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในประเทศจีน โดยมีกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักโรคติดต่อทั่วไป สำนักระบาดวิทยา และสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ เข้าร่วมประชุม ว่า การติดเชื้อไข้หวัดนก H7N9 ในต่างประเทศนั้น ล่าสุดยังไม่มีหลักฐานการแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คน ส่วนการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงของประเทศไทย จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดขณะนี้ทำให้ค่อนข้างประเมินได้ยาก จึงควรเน้นการตรวจจับการระบาดและเฝ้าระวังโรคให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น ขณะที่การเฝ้าระวังในสัตว์ กรมปศุสัตว์มีศักยภาพในการตรวจสายพันธุ์นี้อยู่แล้ว และที่ผ่านมาไทยยังไม่พบเชื้อ H7N9 ในสัตว์มาก่อน เพราะไทยไม่มีการนำเข้าสัตว์ปีกจากจีน ทั้งนี้ เชื้อ H7 จะพบได้ในสัตว์ปีกทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ซึ่งโครงสร้างของสายพันธุ์นี้ จะทำให้เกิดปอดบวมรุนแรง และมีความไวต่อยาโอเซลทามิเวียร์

นพ.ทวี กล่าวอีกว่า แม้ไทยจะดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้จะต้องเพิ่มความเข้มข้น เน้นการตรวจจับการระบาดและเฝ้าระวังทั้งในคนและสัตว์ พร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาล และการสื่อสารความเสี่ยง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การเฝ้าระวังจะเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นพิเศษ 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง 2.ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่ม 3.ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและมีอาการปอดบวม และ 4.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ป่วยเป็นปอดบวม

นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า การเดินทางระหว่างประเทศยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องจำกัดการเดินทาง ส่วนผู้ที่เดินทางไปยังต่างประเทศที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไข้หวัดนก ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยปวดบวม รวมทั้งสัตว์ปีกและนกธรรมชาติด้วย หากมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง

ขอแนะนำประชาชนทั่วไป ดังนี้ 1.รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย โดยเฉพาะเด็ก 3.ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที บอกประวัติการสัมผัสพร้อมอาการ” นพ.ทวี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น