xs
xsm
sm
md
lg

ก.เกษตรฯยังไม่พบหวัดนก H7N9 ในไทย - สธ.ย้ำมีมาตรการควบคุม ปชช.อย่าห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.เกษตรฯ ยันไม่เคยพบเชื้อ H7N9 ในไทย สั่งกรมปศุสัตว์เข้มเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ หลังรอบบ้าน ทั้งบังกลาเทศ เนปาล อินเดีย กัมพูชา พบการระบาดแล้ว โวมาตรการเฝ้าระวังดีจนดันธุรกิจส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดได้อีกครั้ง ด้าน สธ.ย้ำมีมาตรการเฝ้าระวัง ปชช.ไม่ต้องกังวล
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้กำชับให้กรมปศุสัตว์เข้มงวดมาตรการการป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก รวมถึงติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนกชนิด H7N9 จำนวน 3 ราย โดยมี 2 รายเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคนั้นยังอยู่ในระหว่างการตรวจพิสูจน์ทางระบาดวิทยา ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อในมนุษย์ และไม่เคยพบเชื้อดังกล่าวในประเทศไทย ทั้งในคนและในสัตว์

เมื่อมีกระแสข่าวพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน กรมปศุสัตว์ได้เพิ่มความเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกบริเวณชายแดน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะอาจจะมีการพบเชื้อปะปนมาจากการค้าขายบริเวณชายแดนได้ และในช่วงเดือนเมษายนนี้ทางกรมปศุสัตว์จะฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกกว่า 1.3 ล้านแห่งทั่วประเทศด้วย” รมว.เกษตรฯ กล่าว

ด้านนายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงในสัตว์ปีก ปี 2556 ขณะนี้พบรายงานการระบาดในประเทศบังกลาเทศ เม็กซิโก เนปาล อียิปต์ ภูฏาน อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และกัมพูชา โดยประเทศล่าสุดที่มีรายงานการพบการระบาดในช่วงเดือนมีนาคม 2556 คือประเทศอินเดีย กัมพูชา และ เม็กซิโก โดยขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระและซากของนกอพยพ และนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ทั่วประเทศ หากพบว่ามีนกตายผิดปกติ หรือพบเชื้อโรคไข้หวัดนกให้เข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที และสั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่าน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออก ต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะเข้า-ออก ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ รถเข็น และบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีก หรือซากสัตว์ปีกทันที รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก

นายทฤษฎี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องและเข้มงวดอยู่แล้ว ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ ในปี 2555 มีปริมาณทั้งหมด 552,117 ตัน มูลค่า 70,852 ล้านบาท แบ่งเป็น เนื้อไก่ดิบปริมาณ 89,353 ตัน มูลค่า 6,483 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูปปรุงสุกปริมาณ 462,764 ตัน มูลค่า 64,369 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าเนื้อไก่ดิบ เช่น สหภาพยุโรป รัสเซีย เวียดนาม แอฟริกาใต้ ยูเออี เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกแปรรูป มีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา รัสเซีย เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกเนื้อไก่ดิบของประเทศไทยคาดว่า จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีหน่วยงานจากต่างประเทศเดินทางมาตรวจประเมินระบบการควบคุมการสัตว์ปีกของประเทศไทย เพื่อจะได้อนุญาตให้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสดได้อีกครั้ง อาทิ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยผลการตรวจประเมินฯ ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดี เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินแจ้งว่ามีความพอใจในระบบการควบคุมของประเทศไทยว่า มีมาตรฐานที่ดีมาก” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกสินค้าเนื้อไก่ดิบไปยังประเทศสิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ คาดว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกดิบไปยังประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ได้ประมาณช่วงกลางปี 2556 ซึ่งจะสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกดิบได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 100,000 ตัน มูลค่า 9,000 ล้านบาท

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบขณะนี้มีผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 จำนวน 7 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนและไม่พบรายงานว่า มีการติดเชื้อจากคนสู่คน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายในการควบคุม โดย สธ.ได้มีมาตรการควบคุมอยู่ตลอดเวลาใน 4 ส่วน คือ 1.สัตว์ป่า เช่น นก หากพบป่วยตายแบบผิดปกติ จะมีการเก็บตัวอย่างอุจจาระมาเพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุของการตาย 2.ฟาร์มแบบปิดที่ต้องมีสัตวแพทย์ควบคุม หากพบการป่วยตายผิดปกติต้องทำการเพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุ 3.สัตว์ที่ประชาชนเลี้ยงหากพบการป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้ง อสม.ทำการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ และ 4.ประชาชนที่ป่วยไอ มีอาการทางปอด ไข้สูงผิดปกติเกิน 3 วัน ให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป

“ขอให้ประชาชนสบายใจ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะ สธ.มีมาตรการควบคุมอยู่ตลอด ทั้งการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการเพาะเชื้อของกรมวิทยยาศาสตร์การแพทย์ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน การจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญของสำนักระบาดวิทยา เพื่อหาแนวทางป้องกันเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น จึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง” อธิบดี คร. กล่าวและว่า ประเทศไทยมีการควบคุมและเฝ้าระวังสถานการณ์ในสัตว์ปีกอยู่ตลอด โดย กรมปศุสัตว์รายงานว่า มีการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก (H5N1, H5N2) ในสัตว์ปีกครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา และจนถึงปัจจุบันยังไม่พบเชื้อไข้หวัดนก รวมถึงสายพันธุ์ H7N9 ในสัตว์ปีก

รศ.คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทย์มีการเตรียมความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการไว้รองรับหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินแล้ว โดยห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทย์ สามารถตรวจวิเคราะห์หาสายพันธุ์ไข้หวัดนกชนิด H7N9 ด้วยวิธีการคัดกรองได้ทันที โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า Polymerase Chain Reaction (PCR) และตรวจยืนยันสายพันธุ์ไข้หวัดนกชนิด H7N9 ด้วยวิธีการหาลำดับเบส

“ตอนนี้กรมฯได้รับตัวอย่างเชื้อมาจากองค์การอนามัยโลกเพื่อตรวจสอบสายพันธุ์ ซึ่งเรามีการเตรียมรับมือในส่วนของการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการไว้แล้วทั่วประเทศ จึงพร้อมให้บริการตรวจยืนยันผลทันทีหากมีการส่งเชื้อต้องสงสัยเข้ามาตรวจ โดยจะสามารถแยกเชื้อและตรวจยืนยันว่าเป็นชนิดใดได้ภายใน 12 ชั่วโมง” รองอธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น