สระแก้ว - อธิบดีปศุสัตว์ลงพื้นที่สระแก้วติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก หลังประเทศเพื่อนบ้านเสียชีวิตไปแล้ว 9 ราย
วันนี้ (4 มี.ค.) นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นำคณะลงพื้นที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยมีนายอำพันธ์ เวฬุตันติ ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว นำหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ ด่านตรวจพืช ด่านตรวจสัตว์น้ำร่วมให้การต้อนรับ
ตามที่กรมสุขภาพสัตว์ได้รับแจ้งการพบเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ที่มีสายพันธุ์แตกต่างจากเชื้อที่พบในปี พ.ศ.2556 ในประเทศกัมพูชา ทำให้มีความเสี่ยงจะเกิดการระบาดที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในเวียดนามเข้าเขมรอาจมีโอกาสแพร่ระบาดมายังประเทศไทยได้ทางนกอพยพ หรือนกธรรมชาติที่บินเข้ามาสู่ประเทศไทย และการลักลอบนำสัตว์ปีกเข้ามาตามบริเวณแนวชายแดนผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน
กรมปศุสัตว์จึงได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระ และซากของนกอพยพและนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ทั่วประเทศ หากพบว่ามีนกตายผิดปกติ หรือพบเชื้อโรคไข้หวัดนกจะเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะเข้า-ออก ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ รถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดี และทำลายสัตว์ปีก หรือซากสัตว์ปีกทันที
ซึ่งในฟาร์มสัตว์ปีก 3 จุด ติดกับกรุงพนมเปญ และเวียดนามมีการทำลายสัตว์ปีกไปแล้วกว่า 4,000 ตัว ครั้งล่าสุดอีกจำนวน 2 จุด เมื่อวันที่ 22 ก.พ.56 พบสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านที่จังหวัด Kampong cham และจังหวัด Kampot ได้ทำลายสัตว์ปีกไปแล้วกว่า 3,500 ตัว ซึ่งรายล่าสุด ได้เสียชีวิตไปแล้ว 9 ราย ซึ่งห่างจากชายแดนไทยประมาณ 300 กม.
นายสัตวแพทย์ทฤษดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว เช่น กำหนดให้มีการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกแบบบูรณาการ ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกครัวเรือน
พร้อมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระสัตว์ปีก (cloacal swab) ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ อีกทั้งยังกำหนดให้มีการทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงปีละ 4 ครั้ง โดยเน้นพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย พื้นที่ที่มีนกอพยพ นกธรรมชาติอาศัยอยู่ พื้นที่ตามแนวชายแดน โรงฆ่าสัตว์ปีก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก และซากสัตว์ปีกระหว่างจังหวัด และระหว่างโซน ซึ่งปัจจุบัน มีการแบ่งพื้นที่การควบคุมเป็น 5 โซน มีจุดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายระหว่างโซน 32 จุด มีการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีกในรูปแบบฟาร์มปิด และฟาร์มมาตรฐาน ฟาร์มคอมพาร์ตเมนต์ ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมทั้งปรับระบบการเลี้ยงไก่พื้นเมือง และสัตว์ปีกที่เลี้ยงแบบหลังบ้าน (backyard) ให้มีเล้า หรือโรงเรือนที่สามารถป้องกันแดด ลม ฝน และพาหะนำเชื้อโรคระบาดได้ มีการขึ้นทะเบียนเป็ดไล่ทุ่ง และจำกัดพื้นที่การเลี้ยงให้อยู่ภายในตำบล หรืออำเภอเดียว โดยมีการสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระตรวจทุกฝูง ปีละ 2 ครั้ง และส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเป็นระบบฟาร์ม นอกจากนั้น ยังได้มีการประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในนกอพยพ และนกธรรมชาติ และเก็บตัวอย่างอุจจาระ ซาก ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในแหล่งสร้างรังวางไข่ (colony) ปีละ 4 ครั้ง ตลอดจนมีการสำรวจเส้นทางบินของนกเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนเฝ้าระวังโรค และประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกร่วมกัน