พะเยา - ปศุสัตว์จังหวัดพะเยานำเจ้าหน้าที่ลงสำรวจเล้าหมูใน อ.จุน หลังพบ 7 วันหมูตายไม่ทราบสาเหตุถึง 12 ตัว ส่งซาก 2 ตัวพิสูจน์ หวั่นเป็นโรคเพิร์ส ที่เคยระบาดปี 54 จนหมูตายไปกว่า 4 พันตัว พร้อมประกาศเป็นเขตโรคระบาดคุมเข้ม ห้ามขนย้ายจนกว่าจะทราบผลพิสูจน์
วันนี้ (12 ธ.ค.) นายจำลอง อริยะจักร ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงหมูของนายสืบพันธ์ วงดาว อายุ 67 ปี บ้านเลขที่ 349 หมู่ 4 ต.ห้วยข้าวก่ำ อ.จุน เกษตรกรที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดเล็ก บริเวณริมทุ่งนาหมู่ 7 ต.ห้วยข้าวก่ำ หลังมีรายงานหมูตายไม่ทราบสาเหตุกว่า 12 ตัวในเวลาไม่ถึงอาทิตย์ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิลดลงรวดเร็ว บางวันมี 3 ฤดู
โดยพบว่าภายในฟาร์มของนายสืบพันธ์มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่เศษ แบ่งเลี้ยงโค กระบือ กั้นเป็นแนวเขตแยกจากการเลี้ยงหมู จำนวน 2 เล้า และแบ่งทำเป็นที่เลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นบ้าน ห่านในบริเวณเดียวกัน จากนั้นได้สอบถามข้อมูลจากนายสืบพันธ์ถึงลักษณะการตายของหมูในฟาร์ม
นายจำลองเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวหลังตรวจพื้นที่แล้วว่า พอทราบรายงานอันดับแรกได้ส่งเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจมาดำเนินการเก็บซากสัตว์ที่ตาย ส่งตรวจที่ศูนย์เหนือ จ.ลำปาง เป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (10 ธ.ค.55) และทำการพ่นยาฆ่าเชื้อที่คอกสัตว์ที่เลี้ยงรวมกันทั้งหมด พร้อมกับพยายามแยกสัตว์ที่ป่วยออกมาทำการฉีดยาบำรุงรักษาเพื่อทำให้เกิดความต้านทานทางธรรมชาติ เพราะถ้าหมูอ่อนแอสามารถรับเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เลี้ยงสัตว์บริเวณใกล้เคียงให้ระแวดระวังในจุดที่เกิดโรคตรงนี้ เพราะเป็นจุดสำคัญเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศแปรปรวนเร็วมาก
นายจำลองกล่าวว่า หมูที่ตายส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากอากาศหนาวจัดและหมูที่นำเข้ามาเลี้ยงอายุประมาณเดือนเศษ หมูเริ่มตายตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 55 ถึงปัจจุบันหมูตายทั้งหมด 12 ตัว ในจำนวนนี้มีหมูอายุ 3 เดือน 2 ตัว สาเหตุการตายตรงนี้เราสันนิษฐานว่าอากาศมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากระหว่างวันที่ 3, 4, 5 ธ.ค. 55 ซึ่งการที่อุณหภูมิลดลงเร็วทำให้หมูตัวเล็กๆ ปรับสภาพร่างกายไม่ทันก็ตายได้ เพราะดูลักษณะที่เจ้าของเล่าให้ฟังหมูจะขาสั่น ไม่ค่อยมีแรง เนื้อตัวตาบวม
ที่สำคัญคือซากที่เราส่งไปศูนย์เหนือจังหวัดลำปาง 2 ตัวจะพบเชื้ออะไรบ้าง เพราะเราเป็นห่วงมากที่สุดคือโรค PRRS หรือโรคเพิร์ส ที่เคยเกิดระบาดที่ จ.พะเยาเมื่อปี 2554 คราวนั้นมีหมูตายไปกว่า 4,000 ตัว เราก็กลัวว่าโรคนี้จะกลับมาอีก จึงต้องระวังเป็นพิเศษ และประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤต และเป็นช่วงที่พีกมาก ถ้าอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็วหมูตัวเล็กๆ ถ้าเกษตรกรดูแลไม่ดีไม่มีที่กันลมก็อาจตายได้ง่าย จึงขอเตือนเกษตรกรที่เลี้ยงหมูเล็กควรหาที่อบอุ่นและนำเศษฟางเข้าไปในเล้าเพื่อให้ลูกหมูได้เข้าหลบหนาว
ปศุสัตว์จังหวัดพะเยากล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาในเบื้องต้นคือ การฉีดยาปฏิชีวนะต้านทานโรคให้แก่ลูกหมูที่เหลือ พร้อมให้ยาพ่นฆ่าเชื้อโรคแก่เกษตรกรทำการพ่นในเล้าตามพื้นที่ ซึ่งมีมูลสัตว์กองรวมกันและเปียกชื้น เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค นอกจากนี้เพื่อป้องกันโรคระบาด จะประกาศให้ อ.จุนเป็นเขตระบาดโรคหมูเป็นเวลา 1 เดือน ห้ามทำการขนย้ายหมูเข้า-ออกในพื้นที่จนกว่าจะทราบผลอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นห่วงโรคเพิร์สจะกลับมาระบาดอีกรอบ เนื่องจากมีการสุ่มตรวจหมูในฟาร์มในพื้นที่ อ.ภูกามยาว แล้วมีผลบวกน่าเป็นห่วงมาก ส่วนในพื้นที่ อ.จุน จะประสานอาสาสมัครปศุสัตว์ประจำหมู่บ้านนำยาฆ่าเชื้อไปฉีดพ่นเล้าสัตว์ทุกเล้าในพื้นที่รับผิดชอบ เป็นอีกวิธีหนึ่งของการป้องกัน
ปศุสัตว์จังหวัดพะเยากล่าวถึงการเกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกว่า โรคนี้แต่ก่อนเป็นโรคที่เกิดขึ้นน่ากลัวมาก แต่เท่าที่เราได้ปฏิบัติการเชิงรุกของกรมปศุสัตว์ปีหนึ่งเรามีการพ่นยา 4 ครั้ง ทำทุกซอกทุกมุมที่มีการเลี้ยงไก่ หลังจากที่เราได้ดำเนินการมา 3-4 ปีก็ไม่ปรากฏว่ามีโรคไข้หวัดนกเกิดขึ้นจึงมั่นใจว่าไม่มีโรคหวัดนกใน จ.พะเยา ขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสบายใจได้ ปศุสัตว์จังหวัดพะเยากล่าวอย่างมั่นใจ