xs
xsm
sm
md
lg

สุรินทร์ประกาศเขตโรคระบาด 2 แห่ง หลังโค-กระบือตายอื้อแล้ว 12 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปศุสัตว์สุรินทร์ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว 30 วัน  ห้ามเคลื่อนย้ายโค-กระบือ และซากสัตว์เข้า-ออกหมู่บ้าน 2 แห่งในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ หลังโรคคอบวมระบาดวัว ควายตายไปแล้วกว่า 12 ตัว วันนี้ ( 31 พ.ค.)
สุรินทร์ - ปศุสัตว์สุรินทร์ประกาศเขตโรคระบาด ห้ามเคลื่อนย้ายโค-กระบือ และซากสัตว์เข้า-ออกหมู่บ้าน 2 แห่งใน “อ.เมือง-อ.สำโรงทาบ” ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ หลังพบ “โรคคอบวม” ระบาดคร่าชีวิตควาย-วัวไปแล้วกว่า 12 ตัว ระบุโรคคอบวม หรือ “เฮโมรายิกเซพติกซีเมีย” รุนแรง สัตว์เลี้ยงตายรวดเร็วใน 1-2 วัน ชี้หายไปจากพื้นที่แล้วกว่า 10 ปีแต่กลับมาระบาดอีกครั้ง

วันนี้ (31 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีกระบือของ นางสังวร เหิมหาญ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 50 บ.ปะ ม.6 ต.ตั้งใจ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ที่เลี้ยงไว้จำนวน 10 ตัว ตายไป 5 ตัว โดยก่อนตายกระบือมีอาการตัวร้อน เกร็ง คอบวม น้ำมูกไหล น้ำลายฟูมปาก และตายภายใน 1 วันตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ เวลา 11.00 น. ที่ทำการกองทุนหมู่บ้านปะ ต.ตั้งใจ อ.เมือง จ.สุรินทร์ นสพ.เทิดศักดิ์ ดีเสมอ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย นายอดุลย์ ศรีบุรี หัวหน้าด่านกักกันสัตว์สุรินทร์, น.สพ.จรูญวิทย์ นะพรรัมย์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์, นายกัลย์ สัดตานุสรณ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญงาน สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองสุรินทร์ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ประชุมวางแผนป้องกันและรับมือการแพร่ระบาดของโรคคอบวม หรือเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย ที่เป็นสาเหตุให้กระบือล้มตายดังกล่าว ร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) ตั้งใจ, กำนันตำบลตั้งใจ ผู้ใหญ่บ้านปะ และชาวบ้านในหมู่บ้านกว่า 20 คน

โดยทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองสุรินทร์ได้ออกประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ในพื้นที่หมู่บ้านปะ รัศมี 1 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 เป็นเวลา 30 วัน โดยหลังมีการกำหนดเขตโรคระบาด หรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาด หรือประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวแล้ว เจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 17, 18 และมาตรา 19 โดยสังเขป คือ

1. ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายโค-กระบือ หรือซากสัตว์ดังกล่าวภายในเขตนั้น หรือเคลื่อนย้ายเข้าในหรือนอกเขตนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์

2. ห้ามมิให้เจ้าของหรือนิติบุคคลใดเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยไปจากบริเวณนั้น หรือให้เจ้าของสัตว์แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสารวัตรหรือสัตวแพทย์ แล้วแต่กรณีภายใน 12 ชั่วโมง (ชม.) นับแต่เวลาสัตว์ป่วย

3. ในกรณีสัตว์ตายให้เจ้าของควบคุมซากสัตว์นั้นให้อยู่ ณ ที่สัตว์ตาย ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ สารวัตรหรือสัตวแพทย์ไม่อาจมาตรวจซากนั้นภายในเวลา 48 ชม.นับแต่เวลาสัตว์ตาย ให้เจ้าของฝังซากสัตว์นั้นใต้ระดับผิวดินไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร (ซม.) สำหรับซากสัตว์ใหญ่ให้พูนดินกลบหลุมเหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 ซม.อีกด้วย

ทั้งนี้ เจ้าของสัตว์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสัตวแพทย์ทุกประการ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือคำสั่งต้องระวางโทษอย่างต่ำจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

น.สพ.เทิดศักดิ์ ดีเสมอ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า กรณีมีสัตว์ป่วยเราก็จะแยกออกและทำการรักษา ฉีดยาปฏิชีวนะ และทำการเฝ้าติดตามดูอาการประมาณ 1 สัปดาห์ และทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้โค-กระบือ รวมทั้งการฉีดยาฆ่าเชื้อบริเวณคอกโค-กระบือ ภายในหมู่บ้าน และจุดเสี่ยงและต้องสงสัย

นอกจากนี้จะมีการตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ไม่ให้เข้าออกพื้นที่ และมีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านผู้เลี้ยงโค-กระบือทราบอันตรายของโรคนี้ที่มีต่อสัตว์ รวมทั้งยังห้ามไม่ให้นำสัตว์ที่ป่วยตายไปบริโภค เพราะอาจจะทำให้นำเชื้อไปติดสัตว์ของตนเองได้ ซึ่งเริ่มประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ เป็นเวลา 30 วัน

นอกจากนี้ยังพบการแพร่ระบาดของโรคคอบวมในพื้นที่ ต.ศรีสุข อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ อีกด้วย มีกระบือตายไปประมาณ 6 ตัว และโคอีก 1 ตัว ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา และได้มีการประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวไปแล้วเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ไม่พบว่ามีสัตว์ตายเพิ่ม และมีการติดตามเฝ้าระวังทุกวันจนครบ 30 วันเช่นกัน ทั้งนี้จะได้มีการสั่งวัคซีนป้องกันเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอ

ด้าน นายสงกานต์ สำเภาทอง อาสาปศุสัตว์ประจำตำบลตั้งใจ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพ่นยาฆ่าเชื้อตามคอกวัว-ควาย ของชาวบ้านปะเกือบทั้งหมดแล้วจำนวน 48 คอก รวมทั้งฉีดวัคซีนให้วัว-ควายบางตัวที่ยังไม่ได้ฉีดป้องกัน โดยมีวัว-ควายทั้งหมู่บ้านจำนวน 270 ตัว ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการออกฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว และจะมีการดำเนินการเพิ่มเติมจนทั่วพื้นที่หมู่บ้าน

ที่ผ่านมาก็มีการออกฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่มีบางตัวที่ดื้อไม่สามารถฉีดได้ และบางตัวที่ตั้งท้องเกษตรกรไม่กล้าให้ฉีด รวมทั้งบางตัวที่อายุยังไม่ถึง 4 เดือนก็ไม่สามารถฉีดได้ ซึ่งควายที่ตายไปก็อยู่ในกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีด และถ้าวัวควายฉีดวัคซีนป้องกันก็จะสามารถป้องกันโรคคอบวมได้ 100% ซึ่งโรคดังกล่าวได้หายไปจากพื้นที่กว่า 10 ปีแล้ว และเพิ่งกลับมาระบาดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เชื้อโรคดังกล่าวไม่เกิดอันตรายต่อคนแต่อย่างใด แต่จะสร้างความเสียหายให้วัวควายของเกษตรกรมากกว่า ทั้งนี้ ในหมู่บ้านยังพบมีควายที่มีอาการในลักษณะดังกล่าว 3 ตัว ซึ่งได้ฉีดยาปฏิชีวนะและพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณแล้ว อยู่ระหว่างติดตามเฝ้าดูอาการ

สำหรับโรคในโค-กระบือที่ควรระวังในช่วงหน้าฝน คือ โรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย เป็นโรคที่มีความรุนแรง สัตว์เลี้ยงจะมีอาการคอหรือหน้าบวมแข็ง หายใจเสียงดัง หรือหอบ และตายอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน สามารถป้องกันได้โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ยังมีโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งติดต่อได้อย่างรวดเร็วในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด สาเหตุเกิดจากการที่สัตว์เลี้ยงกินอาหาร และน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศ จะทำให้มีไข้สูง เบื่ออาหาร น้ำลายไหล มีแผลที่ลิ้นและร่องกีบ หากเกิดโรคแทรกซ้อนอาจทำให้สัตว์ตายได้







กำลังโหลดความคิดเห็น