ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ปศุสัตว์เชียงใหม่เผย ผลห้องแล็บตรวจหมู-ไก่ส่งร้านหมูกระทะไม่พบ “สเตรปโตคอคคัส อะกาแลคเทีย” เชื้อสาเหตุ นศ.ปริญญาโทเสียชีวิต พร้อมแจงตรวจทั้งฟาร์มเลี้ยง-เขียงจำหน่ายแล้วไม่พบเช่นกัน ชี้การปนเปื้อนน่าจะเกิดที่ปลายทาง ส่วนสรุปสาเหตุต้องรอ สสจ.แจงอีกครั้ง
วันนี้ (12 ธ.ค.) นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการแถลงข่าวการรายงานผลการตรวจตัวอย่างเนื้อจากสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ของ จ.เชียงใหม่ โดยมีนายสมพร พรวิเศษศิริกุล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นายสุวิทย์ ประชุม นายสัตวแพทย์ชำนาญการ นายธม สินยา สัตวแพทย์ชำนาญงาน และนางมลวิภา ศิริโหราชัย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ร่วมในการแถลงข่าว
การแถลงข่าวในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อชี้แจงถึงกรณีที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส อะกาแลคเทียเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน โดยผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวซึ่งเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาโทได้รับประทานหมูกระทะที่ร้านแห่งหนึ่งในจังหวัดก่อนจะเสียชีวิต และกรณีดังกล่าวได้กลายเป็นข่าวครึกโครมตามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
นายวีรชาติเปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุดังกล่าว นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)เชียงใหม่ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ดำเนินการติดตามเส้นทางการเดินทางของเนื้อสุกรที่ร้านหมูกระทะนำมาใช้ประกอบอาหาร รวมทั้งทำการเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์จากร้านค้าที่ส่งเนื้อสุกรและเนื้อไก่ให้แก่ร้านหมูกระทะ แล้วส่งไปทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ภาคเหนือตอนบน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
นายวีรชาติกล่าวว่า จากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้รายงานเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าไม่พบเชื้อสเตรปโตคอคคัส อะกาแลคเทีย ในเนื้อสัตว์ที่ส่งไปทำการตรวจสอบ อีกทั้งจากการตรวจสอบทางระบาดวิทยาตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์และโรงฆ่าสัตว์ก็ไม่พบว่ามีสัตว์ป่วยด้วยโรคระบาด หรือพบว่าเชื้อสเตรปโตคอคคัส อะกาแล็คเทียทำให้เกิดโรคระบาดแต่อย่างใด จึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดไม่พบเชื้อที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในกระบวนการเลี้ยงสัตว์และการชำแหละ
“สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อจนเสียชีวิตนั้นยังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้ โดยจะต้องรอให้ทาง สสจ.เป็นผู้สรุปผลอีกครั้งหนึ่ง โดยต่อจากนี้จะให้ความสำคัญการตรวจสอบการปนเปื้อนที่ปลายทาง ทั้งจากกระบวนการบรรจุหีบห่อ การตัดแต่ง หมัก และปรุงรส การจัดเก็บ และบุคลากรของร้านอาหาร ซึ่งทั้งหมดอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนได้”
นายวีรชาติกล่าวว่า ขอยืนยันว่าทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมีการตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงสัตว์และสถานที่จำหน่ายอย่างต่อเนื่อง โดยฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจะมีระบบการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย เช่นเดียวกับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์สะอาดหรือเขียงสะอาด ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรวจประเมินแล้วถือเป็นสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีความปลอดภัยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขอนามัยที่ดี นอกจากผู้บริโภคควรจะเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งผลิตหรือร้านจำหน่ายที่ไว้วางใจได้หรือได้มาตรฐานแล้ว การนำเนื้อสัตว์ไปรับประทานยังควรปรุงให้สุกก่อนทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายหลงเหลืออยู่
ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าวปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ยังได้สาธิตการปิ้งย่างหมูกระทะ โดยใช้ที่คีบจับในการปิ้งย่าง และใช้ตะเกียบในการรับประทาน พร้อมทั้งทดลองรับประทานหมูกระทะเป็นตัวอย่างด้วย