xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ขันนอตระบบความพร้อมป้องกันโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดเข้มข้นการตรวจจับการระบาดและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 ให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งในคนและสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยปอดบวมรุนแรงทั้งที่มารักษาในโรงพยาบาล ผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ และในชุมชน หากพบความผิดปกติให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่สอบสวนโรคทันที ย้ำประชาชนทุกวัยดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ทั้งการล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก และใส่หน้ากากอนามัยเมื่อป่วย ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหากมีอาการป่วยไข้หวัด ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

วันนี้ (27เม.ย.) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7เอ็น 9 (H7N9) ว่า ล่าสุดองค์การอนามัยโลก รายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 ที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายแรกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ มีอาการป่วยหลังเดินทางกลับจากเมืองซูโจว ประเทศจีน 3 วัน รวมจำนวนผู้ป่วยจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2556 เพิ่มเป็น 109 ราย เสียชีวิต 22 ราย จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่คนในวงกว้าง แต่เริ่มมีกรณีสงสัยว่าอาจมีการติดต่อจากคนสู่คนในวงจำกัด เช่น คนในครอบครัวเดียวกัน ดังนั้น องค์การอนามัยโลกขอให้ทุกประเทศเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อม แต่ไม่แนะนำให้ดำเนินการตรวจคัดกรองที่พิเศษผู้ที่เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ เช่นการตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo scan) รวมทั้งไม่มีคำแนะนำให้จำกัดการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายประเทศในแถบเอเชียมีความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมระบบการป้องกันโรคนี้

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ในส่วนของประเทศไทย ได้วางระบบความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคอย่างเข้มงวด แม้ว่าจะยังไม่เคยพบเชื้อชนิดนี้ในประเทศไทยก็ตาม โดยการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วย การประสานข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานฯ ยังไม่พบการติดเชื้อชนิดนี้ แต่จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญในประเทศและองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เห็นพ้องกันว่าไม่สามารถนิ่งนอนใจว่าจะไม่เกิดการระบาดแพร่ไปยังประเทศต่างๆ

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ในฐานะหน่วยงานหลักตามแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้ทำหน้าที่ประสานงานตามข้อสั่งการและประสานการเตรียมความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เข้มข้นการตรวจจับการระบาดและเฝ้าระวังโรคให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม ทั้งในคนและสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แพทย์ซักประวัติและเก็บตัวอย่างส่งตรวจในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรงที่มารักษาในโรงพยาบาล 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงไม่ทราบสาเหตุ 2. ผู้ป่วยปอดบวมที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 3. บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นปอดบวม และ 4. ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน และแจ้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่ เก็บตัวอย่างมาตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ได้ให้องค์การเภสัชกรรม และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เตรียมคลังยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทั้งชนิดกินและชนิดฉีด อุปกรณ์ป้องกันโรคให้เพียงพอ เตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาวัคซีน เอช 7เอ็น 9 ของไทย และให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เตรียมห้องแยกสำหรับดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไว้เป็นการเฉพาะ

ด้าน นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า อาการป่วยของผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7เอ็น 9 ส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรง เช่น ภาวะการหายใจล้มเหลว และเสียชีวิต ได้ให้กรมการแพทย์ฝึกอบรมบุคลาการทางการแพทย์ทุกจังหวัด ทั้งด้านการเฝ้าระวังตรวจจับผู้ป่วยสงสัย และแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ และการป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้แม้ว่ายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 ในคน แต่เป็นโรคที่มียาต้านไวรัสรักษาได้ ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ขอให้พบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศจากข้อมูลด้านวิชาการการป้องกันไข้หวัดพบว่า พฤติกรรมสุขภาพที่ดีสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคได้ เช่น การล้างมือบ่อยๆ ผู้มีอาการระบบทางเดินหายใจขอให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่เชื้อสู่คนอื่น ซึ่งเป็นการรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ผู้ที่มีอาการป่วยเป็นไข้หวัดขอให้หยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเพื่อลดการแพร่เชื้อ

ส่วนในกลุ่มของผู้ทำงานสัมผัสสัตว์ปีก เช่นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ผู้เลี้ยง ผู้ขนส่ง ชำแหละและจำหน่ายสัตว์ปีก ขอให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ประการสำคัญจะต้องไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาชำแหละขาย หรือรับประทานอย่างเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น