xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.หนุน รฟท.ปรับการบริหารให้มีประสิทธิภาพ- สางหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในงานสัมมนา "ฟื้นฟูพัฒนารถไฟไทย ทำไปเพื่อใคร" ทางศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ นวัตกรรมทางสังคมการจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ เผยผลสำรวจความคิดเห็นต่อการให้บริการของ รฟท. ซึ่งการศึกษาแบ่งออกเป็นจากตัวอย่างประชาชน 17 จังหวัด 1,209 ครัวเรือน ระหว่าง 26 – 27 กรกฎาคม และกลุ่มประชาชนผู้ใช้บริการ 909 ตัวอย่าง ในช่วง 24-27 กรกฎาคม 2552
จากผลสำรวจทั้ง 2 กลุ่ม เห็นตรงกันว่า การรถไฟฯ ควรปรับเปลี่ยนการบริหารให้มีประสิทธิภาพ จัดตั้งบริษัทเดินรถทำหน้าที่ดูแลด้านการเดินรถ เร่งจัดรายได้จากที่ดินเช่าให้ครบจำนวน แก้ไขปัญหาหนี้สินสะสมที่สูงถึง 72,850 ล้านบาท และปรับค่าโดยสารตามราคาต้นทุน รวมถึงควรแยกโครงสร้างกิจการในเชิงธุรกิจที่สามารถทำกำไร ออกจากการลงทุนในโครงการพื้นฐานระบบรางออกจากกัน
ส่วนเรื่องการจัดตั้งบริษัทพัฒนาสินทรัพย์เพื่อบริหารที่ดิน ผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และผลสำรวจยังพบว่า การดำเนินการของ รฟท. ยังไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ในเรื่องการบริการด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังเห็นว่า การฟื้นฟูกิจการ รฟท. ในด้านประชาชนพบว่า การฟื้นฟูประโยชน์จะตกกับผู้บริหารระดับสูงของ รฟท. เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ทั้งกลุ่มผู้ใช้บริการและประชาชนเห็นพ้องกันว่า การฟื้นฟูจะมีประโยชน์กับประชาชนด้วย และมีผลดีมากกว่าผลเสีย
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ รฟท.ที่ผ่านมา ขาดทุนมาโดยตลอด และตามกฎหมายกำหนดให้ภาครัฐจ่ายเงินชดเชย โดยขาดทุนปีละ 10,000 ล้านบาท และเป็นส่วนโครงการเชิงสังคมที่เป็นการชดเชยที่มาจากค่าโดยสาร บริการภาคประชาชน 2,000-2,500 ล้านบาทต่อปี เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นภาระที่ประชาชนต้องเข้าไปช่วยเหลือ จากผลของการขาดประสิทธิภาพของ รฟท.
ขณะที่ รฟท. มีที่ดินทั้งหมดมากกว่า 2.3 แสนไร่ โดยเป็นที่ดินที่ต้องใช้ในการบริหารงานประมาณ 200,000 ไร่ และที่ดินไม่เกี่ยวกับการเดินรถ 3.7-3.8 หมื่นไร่ ดังนั้นหากนำที่ดินส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินรถมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็จะมีรายได้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของแผนฟื้นฟูที่จะมีการจัดตั้งบริษัทเดินรถ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดินออกจาก รฟท. ขณะที่ รฟท. ยังมีภาระหน้าที่ต้องสร้างรางรถไฟที่รัฐบาลกำหนดว่า ต้องมีการลงทุน 200,000 ล้านบาทใน 4 ปีข้างหน้า และยังมีภาระต้องใช้เงินกองทุนเพื่อดูแลพนักงานบำนาญประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก ดังนั้นการจัดการ และการฟื้นฟูจึงเป็นเรื่องสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น