xs
xsm
sm
md
lg

พิษปลาปักเป้าทนความร้อน - เค็ม เตือนอย่าแปรรูปเป็นอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.มรกต กรเกษม รมช.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีชาวบ้านจังหวัดระยอง เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง แขน ขา อ่อนแรง นิ้วมือชา ภายหลังรับประทานส้มตำปลาร้า ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการนำปลาปักเป้ามาหมักเป็นปลาร้ารวมกับปลาชนิดอื่น ว่า ได้สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัดกวดขันเรื่องการนำปลาปักเป้าน้ำจืดและน้ำเค็มมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ทั้งร้านหมูกะทะ และการแปรรูปเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้น หมักทำเป็นปลาร้ารวมกับปลาอื่น ๆ เนื่องจากพิษของปลาปักเป้า ทนต่อความร้อน ความเค็ม ไม่สลายไปเมื่อนำมาปรุงอาหาร โดยพิษของปลาปักเป้ามีชื่อว่า เตดโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) พบมากที่ส่วนของไข่ ตับ ลำไส้ หนังของปลา หลังได้รับพิษประมาณ 10 - 30 นาที จะมีอาการเริ่มจากชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า จนมีอาการรุนแรง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 264 พ.ศ. 2545 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย คือปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะประชาชนไทยยังมีทางเลือกรับประทานอาหารอื่นๆ ได้อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ขอร้องผู้ประกอบการอาหาร เห็นแก่ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ไม่นำปลาปักเป้ามาแปรรูปเป็นอาหารจำหน่ายโดยเด็ดขาด
นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า พิษจากปลาปักเป้า ยังไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ การรักษาของแพทย์ จะต้องใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ โดยให้น้ำเกลือ หากหยุดหายใจจะใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยพิษของปลาปักเป้าจะขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ หากพิษหมดจากร่างกายอาการผู้ป่วยก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในการรับประทานอาหารจำพวกปลา เช่น เนื้อสัตว์ปิ้งย่างในร้านหมูกะทะ ข้าวต้มปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย ปลาผัดเผ็ดต่างๆ ขอให้สังเกตลักษณะของเนื้อปลา ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนเนื้อไก่ หากรับประทานแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะที่ผ่านมาการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการหยุดหายใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น