xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้พิษปลาปักเป้าทนความร้อนสูง “ปลาร้า” ทำลายไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ชี้พิษปลาปักเป้าทนความร้อนสูง ระบุความเค็มจากการแปรรูปเป็นปลาร้า ก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งกวดขันเรื่องการจำหน่ายปลาปักเป้า และขอร้องผู้ประกอบการเห็นแก่ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ไม่นำปลาปักเป้ามาแปรรูปเป็นอาหารจำหน่าย

จากกรณีนางสมใจ ซื่อตรง อายุ 48 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ้านค่าย จ.ระยอง เมื่อเช้าวันที่ 14 มกราคม 2551 ภายหลังรับประทานส้มตำปลาร้า ที่เพื่อนบ้านปรุง ร่วมกับบุตร หลาน และเพื่อนบ้าน รวม 5 คน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2551 แล้วเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง แขน ขา อ่อนแรง นิ้วมือชา โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ได้เก็บตัวอย่างจากร้านค้าในตลาดหนองกลับ และพบว่า แหล่งผลิตเป็นโรงงานในจังหวัดนครสวรรค์

นพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดกวดขันเรื่องการนำปลาปักเป้าน้ำจืดและน้ำเค็มมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ทั้งร้านหมูกระทะ และการแปรรูปเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้น หมักทำเป็นปลาร้ารวมกับปลาอื่นๆ เนื่องจากพิษของปลาปักเป้า ทนต่อความร้อน ความเค็ม ไม่สลายไปเมื่อนำมาปรุงอาหาร โดยพิษของปลาปักเป้ามีชื่อว่า เตดโตรโดทอกซิน (Tetrodotoxin) พบมากที่ส่วนของไข่ ตับ ลำไส้ หนังของปลา หลังได้รับพิษประมาณ 10-30 นาที จะมีอาการเริ่มจากชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า จนมีอาการรุนแรง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 264 พ.ศ.2545 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย คือ ปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะประชาชนไทยยังมีทางเลือกรับประทานอาหารอื่นๆ ได้อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ขอร้องผู้ประกอบการอาหาร เห็นแก่ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ไม่นำปลาปักเป้ามาแปรรูปเป็นอาหารจำหน่ายโดยเด็ดขาด

ด้านนพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า พิษจากปลาปักเป้า ยังไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ การรักษาของแพทย์ จะต้องใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ โดยให้น้ำเกลือ หากหยุดหายใจจะใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยพิษของปลาปักเป้าจะขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ หากพิษหมดจากร่างกายอาการผู้ป่วยก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ในการรับประทานอาหารจำพวกปลา เช่น เนื้อสัตว์ปิ้งย่างในร้านหมูกระทะ ข้าวต้มปลา ปลาผัดคึ่นฉ่าย ปลาผัดเผ็ดต่างๆ ขอให้สังเกตลักษณะของเนื้อปลา ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนเนื้อไก่ หากรับประทานแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะที่ผ่านมาการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการหยุดหายใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น