xs
xsm
sm
md
lg

“มัสยิดอิสติกลัล” ศูนย์กลางแห่งศรัทธา มัสยิดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มัสยิดอิสติกลัล
“มัสยิดอิสติกลัล” ตั้งอยู่ใจกลางกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวมุสลิม วิจิตรงดงามด้วยสถาปัตยกรรม และยังเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

มัสยิดอิสติกลัล

มัสยิดอิสติกลัล
มาเยี่ยมเยือน “จาการ์ตา” เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่มีเกาะเป็นจำนวนมาก มีวิถีชีวิตผู้คน ภาษา ความเชื่อที่แตกต่างกัน และอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอย่างมากคือ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก

และเมื่อมีโอกาสมาเยือนเมืองหลวงแห่งอินโดนีเซีย ก็ต้องไม่พลาดที่จะมาเยือน “มัสยิดอิสติกลัล” ศูนย์รวมศรัทธาของชาวมุสลิม และเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ตรงข้ามมัสยิดคืออาสนวิหารจาการ์ตา

ห้องโถงละหมาด
“มัสยิดอิสติกลัล” (Istiqlal Mosque) เป็นมัสยิดขนาดใหญ่ใจกลางกรุงจาการ์ตา และที่บอกว่าขนาดใหญ่ ก็เพราะว่าเป็นมัสยิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถรองรับผู้คนได้มากกว่า 120,000 คน (และอาจจะมากกว่านั้น หากรวมพื้นที่ลานกว้างด้านนอกที่สามารถรองรับผู้คนได้เพิ่มเติม)

คำว่า “อิสติกลัล” ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า “เอกราช”

แนวคิดการสร้างมัสยิดแห่งชาติอันยิ่งใหญ่ถูกเสนอโดย วาฮิด ฮัสยิม รัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนาคนแรกของอินโดนีเซีย และอันวาร์ โคโครอามิโนโต ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานมูลนิธิมัสยิดอิสติกลัล

เสากลม 12 ต้น

แกะสลักตัวอักษรด้วยเหล็ก
“มัสยิดอิสติกลัล” ได้รับการออกแบบในปี ค.ศ.1954 โดย ฟรีดริช ซิลาบัน สถาปนิกชาวคริสต์จากเกาะสุมาตราเหนือ ใช้เวลาในการสร้างมัสยิด 17 ปี ภายใต้การสนับสนุนและดูแลการก่อสร้างโดย ประธานาธิบดีซูการ์โน อดีตประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการก่อสร้างมัสยิด ก็มีแนวคิดว่าควรสร้างมัสยิดใกล้ๆ กับสถานที่อยู่อาศัย แต่ประธานาธิบดีซูการ์โน กล่าวว่า มัสยิดประจำชาติควรตั้งอยู่ใกล้กับจัตุรัสที่สำคัญของประเทศ และใกล้กับพระราชวังเมอร์เดกา ตามประเพณีของชาวชวาที่ว่า พระราชวังของกษัตริย์และมัสยิดใหญ่ควรตั้งอยู่รอบๆ จัตุรัสหลัก นอกจากนี้ ประธานาธิบดีซูการ์โนยังยืนกรานว่าควรสร้างมัสยิดแห่งชาติใกล้กับอาสนวิหารจาการ์ตาและโบสถ์อิมมานูเอล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีทางศาสนา

ระเบียง 4 ชั้น ดูสูงโปร่งสบายตา

มิห์รอบ
ความโดดเด่นของอาคารมัสยิดที่เป็นสไตล์ร่วมสมัย เริ่มตั้งแต่หลังคาถูกออกแบบเป็นโคมขนาดใหญ่และตกแต่งด้วยรูปจันทร์เสี้ยวและดาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม โดมรองที่มีขนาดเล็กกว่านั้นยังประดับด้วยยอดสแตนเลสที่มีพระนามของอัลลอฮ์ (พระเจ้า) ในการเขียนพู่กันอิสลาม และโครงสร้างส่วนใหญ่ห่อหุ้มด้วยหินอ่อนจากชวาตะวันออก

มัสยิดนี้มี 5 ชั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ให้แก่หลักการ 5 ข้อของชาวมุสลิมคือ มีความเชื่อต่อศาสดา สวดมนต์วันละ 5 ครั้ง มีความเมตตาอารี ปฏิบัติตามเดือนรอมฎอนและมีสติ และสุดท้ายคือไปแสวงบุญยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ลานกว้างด้านนอก
ห้องโถงกลาง เป็นห้องละหมาดสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ โดยมีโดมเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 เมตร ซึ่งหมายเลข 45 เป็นสัญลักษณ์ของการประกาศเอกราชของอินโดนีเซียในปี ค.ศ.1945 รองรับด้วยเสากลม 12 ต้น เป็นตัวเลขวันเกิดของศาสดามูฮัมหมัด บริเวณโดยรอบแกะสลักตัวอักษรด้วยเหล็ก โดยการออกแบบนี้ช่วยให้เสียงอ่านบทสวดมนต์ดังกังวาน การตกแต่งภายในส่วนใหญ่จะเรียบง่ายแต่สื่อถึงความหรูหราของมัสยิด

รอบๆ ห้องโถงใหญ่จะเป็นระเบียง 4 ชั้น ดูสูงโปร่งสบายตา สามารถมองหามิห์รอบได้อย่างชัดเจน (มิห์รอบเป็นองค์ประกอบที่ใช้ระบุทิศทางกิบละฮ์ หรือทิศที่มุสลิมทั่วโลกหันไปเวลาละหมาด โดยมีกะอ์บะฮ์ เป็นศูนย์กลาง)

หอคอย

กลองไม้ขนาดใหญ่
ส่วนที่ด้านนอก มีลานกว้างที่สามารถรองรับผู้คนในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ และยังมีหอคอยสูงเพื่อประกาศให้ชาวมุสลิมเข้ามาสวดมนต์ และผู้แสวงบุญจะเดินตามหอสูงนี้เพื่อไปยังมัสยิดได้ ที่นี่มีหอคอยเพียงแห่งเดียวที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า หอสูงนี้ก่อสร้างในทิศตะวันตกของลานหลัก มีความสูง 6,666 เซนติเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขสัญลักษณ์แทนจำนวนประโยคในคัมภีร์อัล-กุรอาน

และที่นี่ก็ยังมีกลองไม้ขนาดใหญ่ ที่ใช้ในการเรียกเพื่อละหมาด ตัวกลองทำจากไม้ที่มีอายุกว่า 300 ปีจากชวา หุ้มด้วยหนังวัว ส่วนโครงไม้ขนาดใหญ่รอบๆ นั้นก็ทำจากไม้อายุกว่า 300 ปีเช่นกัน แต่เป็นไม้ที่มาจากกาลีมันตัน

มัสยิดอิสติกลัล

มัสยิดอิสติกลัล
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชม “มัสยิดอิสติกลัล” ได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเมื่อไปถึงจะต้องไปลงทะเบียนที่ด้านใน (หากแต่งตัวไม่เรียบร้อย จะมีบริการชุดคลุมให้ยืม) จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบๆ

ส่วนการเดินทาง หากนักท่องเที่ยวเดินทางมากเอง สามารถลงที่สถานีรถไฟ Gambir ที่อยู่ไม่ไกลมากนัก สามารถเดินจากสถานีรถไฟมายังมัสยิดได้ หรือจะใช้เรียกรถจากแอพลิเคชั่นต่างๆ ได้

มัสยิดอิสติกลัล

มัสยิดอิสติกลัล

มัสยิดอิสติกลัล

มัสยิดอิสติกลัล

มัสยิดอิสติกลัล

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น