xs
xsm
sm
md
lg

วันวาน-วันนี้ ที่ “ทรงวาด” จากย่านการค้าสำคัญสู่ย่านชิคสุดคลาสสิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ถนนทรงวาด
“ทรงวาด” ถนนสายเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นย่านการค้าสำคัญตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ผ่านกาลเวลาที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ก่อนจะเงียบเหงาลงไปตามกาลเวลา และกลับมาเป็นย่านที่คึกคักอีกครั้ง กับบรรยากาศสุดชิค มีทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ อาร์ตเฮ้าส์ โฮสเทล ฯลฯ ที่หลอมรวมไปกับตึกสวยสุดคลาสสิก

ใกล้ๆ กับย่านเยาวราชที่คึกคัก หรือตลาดสำเพ็งที่มีผู้คนขวักไขว่ เดินจับจ่ายใช้สอยกันทั้งวัน ยังมีถนนเส้นเล็กๆ ที่ชื่อ “ทรงวาด” ที่มีระยะทางราวๆ 1.2 กิโลเมตร

ซึ่งแม้ว่าจะเป็นถนนสายที่ไม่ยาวมากนัก แต่ก็มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อน จนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังมีผู้คนที่อาศัยอยู่ ทำมาหากิน และคนแปลกหน้าที่แวะเวียนเข้ามาที่นี่อยู่เสมอ

ถนนทรงวาด
กำเนิด “ทรงวาด”
ย่านสำเพ็ง-เยาวราช เป็นย่านที่มีชุมชนอยู่อาศัยและเป็นย่านการค้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว จากหลักฐานที่ปรากฏในวัดที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ย่านสำเพ็งนั้นเป็นย่านการค้าสำคัญ และนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในพระนคร เนื่องด้วยการเป็นย่านที่อยู่ติดริมน้ำ มีเรือสินค้าเข้ามาจอดเทียบท่า มีการค้าขายกับต่างชาติ และยังเป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำที่สะดวกสบาย

ความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดของย่านสำเพ็ง ทำให้มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยจนกลายเป็นความแออัด เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ จึงทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว จากบ้านเรือนเป็นไม้ที่ปลูกติดกันเป็นแถวยาว และเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ในช่วงรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงวาดเส้นของแนวถนนบนแผนที่ให้เลียบไปตามริมแม่น้ำ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยับขยายพื้นที่การค้าและชุมชน กลายเป็นถนนสายใหม่ที่มีระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร ที่มีชื่อว่า “ถนนทรงวาด”

ถนนทรงวาด
วันวานของ “ทรงวาด”
ย่านการค้าแห่งนี้มีท่าเรือขนส่งสินค้าทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิด ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ หรือกระทั่งสินค้าหายาก ซึ่งจากจุดนี้ สินค้าก็จะถูกนำไปกระจายต่อในตลาด

บางจุดบนถนนทรงวาด เป็นโกดังเก็บสินค้า ตึกแถวสองฝั่งมักจะเป็นอาคารพาณิชย์ (หรือเรียกว่าเป็นอาคารแบบ Shop House) ที่มีสถาปัตยกรรมต่างสมัยต่างความนิยมกันไป ชั้นล่างจะเป็นพื้นที่ค้าขายหรือทำธุรกิจ ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย

ร่องรอยของโกดังเก่า
และด้วยความเป็นย่านการค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่คึกคัก เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากิน ทำให้ถนนเส้นนี้มีการผสมผสานทั้งความเชื่อ อาหารการกิน ตึกรามบ้านช่องต่างๆ ที่ยังคงมีให้เห็นจนถึงทุกวันนี้

จากบริเวณต้นถนนทรงวาด บริเวณท่าน้ำราชวงศ์ มีอาคารที่เรียกว่า “ตึกแขก” เป็นตึก 3 ชั้นที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร ตัวอาคารเป็นสไตล์โกธิค เพิ่มความพิเศษด้วยระเบียงไม้สีเขียวฉลุลายขนมปังขิง มีมุขยื่นออกมา

ตึกแขก

ลวดลายฉลุที่ตึกแขก
ถัดเข้ามาในถนนทรงวาด สองฟากฝั่งก็จะเห็นอาคารพาณิชย์ที่มีกิจการหลากหลาย ตั้งแต่ร้านขายเครื่องเทศสมุนไพร ขายส่งอาหารแห้ง หรือขายส่งสินค้าต่างๆ ภาชนะเคลือบตรากระต่าย ที่เราคุ้นเคยกันดีจากพวกปิ่นโต ถาดสีสันสดใสที่ใช้ในวัด หรือแม้แต่หม้อเขียว (ที่อาจจะมองว่าเป็นสีน้ำเงิน) ก็มีให้เห็นที่นี่

แน่นอนว่า กลุ่มคนที่มักจะเห็นตามย่านการค้าต่างๆ ก็คือ กลุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามา และยิ่งถนนทรงวาดอยู่ติดกับชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่อย่างเยาวราช บนถนนเส้นนี้จึงมีความผูกพันกับชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นอย่างมาก เจ้าสัวตระกูลดัง หรือบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในปัจจุบัน ก็ล้วนมีถิ่นกำเนิดมาจากที่นี่

ภาชนะเคลือบตรากระต่าย
“ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง” ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในย่านนี้ ในสมัยก่อนเล่ากันว่า ชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางมาที่นี่ ก็มักจะมาลงเรือที่ท่าน้ำศาลเจ้า (บริเวณใกล้ๆ กับศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง) เพราะเชื่อว่าเป็นมงคล เมื่อขึ้นมาแล้วก็จะมาสักการะ “ปุนเถ้ากง” เทพเจ้าประจำท้องถิ่นที่ดูแลสารทุกข์สุขดิบของคนในย่านนี้

ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ที่เห็นในปัจจุบันเป็นศาลใหม่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2460 ลักษณะของศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง เป็นสถาปัตยกรรมสกุลช่างแต้จิ๋วแบบซี่เตี้ยมกิม (สี่ตำแหน่งทอง) ภายในอาคารแบ่งออกเป็นสี่ห้องนั่นเอง มีองค์เทพตามจุดต่างๆ แบบความเชื่อของชาวจีน โดยผู้มาสักการะศาลเจ้าแห่งนี้มีความเชื่อในเรื่องการทำมาค้าขาย และความร่มเย็นเป็นสุข

ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง

ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง
ด้านหลังของศาลเล่าปุนเถ้ากงก็คือ “โรงเรียนเผยอิง” โรงเรียนจีนในตึกฝรั่ง ที่เปิดทำการมาตั้งแต่สมัย ร.๖ และปัจจุบันก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่ ตัวอาคารเป็นตึกสไตล์โคโลเนียล ที่ได้รับความนิยมในยุคร้อยกว่าปีก่อน ที่นี่มีศิษย์เก่าเป็นนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนที่โด่งดังมากมาย

โรงเรียนเผยอิง

โรงเรียนเผยอิง ด้านหลังศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง
อีกมุมหนึ่งของทรงวาดก็ยังมี “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก” มัสยิดทรงยุโรปในแบบนีโอคลาสสิกตามสมัยนิยม ก่อตั้งโดย “หลวงโกชาอิศหาก" (เกิด บิน อับดุลลาห์) ข้าราชการตําแหน่งล่ามภาษามลายูในกรมท่าขวา ทำหน้าที่ติดต่อค้าขายกับประเทศในแถบแหลมมลายู รวมทั้งเป็นล่ามเจรจาระหว่างคณะทูตและราชสำนักสยาม หลวงโกชาอิศหาก ได้ซื้อที่ดินประมาณ 2 ไร่ สำหรับสร้างมัสยิดเพื่อให้ชาวมุสลิมที่เดินทางมาติดต่อค้าขายได้มีสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้สะดวก โดยปัจจุบันมัสยิดได้รับการดูแลโดยตระกูลสมันตรัฐ เชื้อสายของหลวงโกชาอิศหาก และยังคงใช้สำหรับประกอบศาสนกิจจวบจนถึงปัจจุบัน

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก
ส่วนชาวพุทธในย่านทรงวาด ก็ยังมีวัดที่อยู่ใกล้ๆ กันก็คือ “วัดปทุมคงคา” วัดโบราณสมัยอยุธยา (เดิมชื่อวัดสำเพ็ง) และ “วัดสัมพันธวงศ์” (เดิมชื่อวัดเกาะ) อีกวัดเก่าแก่ที่รับการปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง

และเมื่อถนนหนทางสะดวกขึ้น การขนส่งสินค้าหรือการเดินทางทางเรือก็ได้รับความนิยมน้อยลงไป ประกอบกับหลายธรกิจไม่มีผู้สานต่อ บางแห่งก็ย้ายทำเลไปที่อื่น ย่านทรงวาดจึงเงียบเหงาลงไป

วัดสัมพันธวงศ์
วันนี้ของ “ทรงวาด”
หลังจากการจัดเทศกาลเมืองศิลปะ “บุกรุก” (BUKRUK Urban Arts Festival) ครั้งที่ 2 ในย่านทรงวาด-เจริญกรุง เมื่อปี 2016 ก็ทำให้มีผู้คนแวะเวียนมาในย่านนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เริ่มเข้ามาเปิดกิจการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม ทำให้ถนนทรงวาดเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ

เดินเล่นที่ถนนทรงวาด ก็จะเห็นทั้งตึกเก่าสวยๆ อย่าง “ตึกผลไม้” ตึกแถว 2 ชั้นสีขาว หน้าต่างสีเขียวอ่อน ประดับลวดลายปูนปั้นเป็นลายเถาวัลย์และผลไม้ที่ละเอียดชดช้อย บางหลังก็เปิดเป็นร้านค้า ร้านอาหาร

ตึกผลไม้

สตรีทอาร์ต “ช้าง”

ภาพซาลาเปา 2 ชาม
บางจุดที่ทรงวาดก็มีสตรีทอาร์ตให้ได้ชมกัน ไม่ว่าจะเป็น “ช้าง” บนผนังตึกบริเวณลานจอดรถริมน้ำ โดยศิลปิน Roa จากเทศกาลบุกรุก เมื่อปี 2016 “ซาลาเปา” เป็นซาลาเปา 2 ชาม ที่อยู่ดานข้างร้านกู่หลงเปา ชามแรกเป็นซาลาเปาอบในชามราชวงศ์หมิง ที่สื่อให้เห็นถึงชาวจีน ส่วนอีกชามเป็นซาลาเปากับขนมมะเฟืองในชามขาวของชาวมุสลิม ที่สื่อถึงการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติ (ในซอยเดียวกันนี้คือที่ตั้งของมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก)

ใครเป็นสายกิน-เที่ยวชิลๆ ที่ทรงวาดก็นับว่าเป็นอีกย่านที่น่าจะถูกใจไม่น้อย เพราะมีทั้งตึกสวยๆ ให้เดินถ่ายรูป มีอาร์ตเฮ้าส์เล็กๆ “PLAY Art House” ที่เปลี่ยนจากอาคารโกดังรองเท้าหลังเก่า ให้กลายมาเป็นอาร์ตเฮ้าส์ หรือบ้านของคนรักในศิลปะแขนงต่างๆ

PLAY Art House

“ลิ้มเล่าซา” ก๋วยเตี๋ยวปลาน้ำใส

โรงกลั่นเนื้อ
สายกินห้ามพลาด ร้านอร่อยทั้งร้านเก่าแก่ดั้งเดิม และร้านเปิดใหม่ไม่กี่ปี เช่น “ห่านอุไร”ห่านพะโล้เจ้าดังแห่งทรงวาด “ก๋วยจั๊บถังไม้” กวยจั๊บในตรอกอาเนี๊ยเก็งที่เปิดขายมากว่า 50 ปี “ลิ้มเล่าซา” ก๋วยเตี๋ยวปลาน้ำใสในตรอกที่เปิดมากว่า 80 ปี “โรงกลั่นเนื้อ” ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อเครื่องแน่นคุณภาพดี

หรือสายคาเฟ่ ก็มีคาเฟ่เก๋ๆ ร้านสวยๆ ให้แวะเช็คอินกันหลายร้าน เช่น “เอฟ.วี” คาเฟ่ขนมและเครื่องดื่มจากวัตถุดิบไทยๆ “Arteasia” ร้านขนมที่เสิร์ฟทาร์ตไส้ไทยๆ จับคู่กับชาหอมๆ “Woodbrook Bangkok” คาเฟ่ริมน้ำวิวแม่น้ำเจ้าพระยา “SCR - Song Wat Coffee Roasters” ร้านกาแฟและโรงคั่วในตึกเก่าสุดคลาสสิก เป็นต้น

นับได้ว่า “ทรงวาด” ในทุกวันนี้ กลายเป็นอีกย่านที่มีความผสมผสานระหว่างความคลาสสิกแบบดั้งเดิม เพิ่มเติมด้วยสีสันจากไลฟ์สไตล์ใหม่ๆอย่างอาร์ตเฮ้าส์ คาเฟ่ ร้านอาหาร ฯลฯ จนกลายเป็นย่านเก่าน่าเที่ยวที่กำลังมาแรงอีกแห่งของกรุงเทพฯ

Arteasia

SCR - Song Wat Coffee Roasters

ถนนทรงวาดในวันหยุด

ถนนทรงวาด

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น