xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวเมืองสตูล ชมเมืองแห่งพหุวัฒนธรรม เพลินสตรีทอาร์ตในย่านเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสน์กูเด็น)
“ตะรุเตา - หลีเป๊ะ - ปราสาทหินพันยอด” เรียงรายฉายเด่นอยู่ในแถวหน้าของการท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดสตูล อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ฤดูฝนช่วงกลางปี ถือเป็นโลว์ซีซั่นของทะเลไทยฝั่งอันดามัน แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลหลายแห่งปิดเพื่อให้ธรรมชาติได้พักฟื้น แม้อาจมีเกาะแก่งบางแห่งยังสามารถเดินทางไปได้บ้าง แต่ก็มีความไม่แน่นอน มีโอกาสเจอฝนตกโปรยปรายชุ่มฉ่ำ ไปจนถึงพายุหนักคลื่นยักษ์ให้หวาดเสียว

แต่สตูลไม่ได้ขาดแคลนเสน่ห์น่าเที่ยวในฤดูฝน เพราะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ต้องลงเกาะเป็นทางเลือกอีกไม่น้อย โดยมีหนึ่งในจุดหมายการท่องเที่ยวที่สะดวกสบาย เรียบง่ายไม่ต้องแคร์ฤดูมรสุม คือ การเที่ยวลัดเลาะไปใน “เมืองสตูล”


คฤหาสน์กูเด็นในอดีต (ภาพ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล)
เริ่มต้นทำความรู้จักเมืองสตูลได้ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล” อาคารสองชั้นทรงปั้นหยา สถาปัตยกรรมกลิ่นอายโคโลเนียล ตั้งอยู่ใน ซอย 5 ถนนสตูลธานี อาคารหลังนี้ปรับปรุงจาก “คฤหาสน์กูเด็น” ที่สร้างขึ้นโดย “พระยาภูมินารถภักดี” หรือ “ตนกูบาฮารุดดิน บินกูแม้ะ” เจ้าเมืองสตูล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

วัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จปักษ์ใต้ แต่มิได้เสด็จมาประทับแรม ต่อมาจึงใช้เป็นบ้านพักเจ้าเมือง ศาลาว่าการเมืองสตูล เคยเป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ว่าการอำเภอเมืองสตูล อาคารเรียนและอาคารสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ตามลำดับ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสน์กูเด็น)
ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นกรมศิลปากรจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนคฤหาสน์กูเด็นเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2532 พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง รวบรวมและจัดแสดงประวัติศาสตร์เมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตชาวสตูลให้ผู้มาเยือนได้ศึกษา (เปิดทำการ วันพุธ-วันอาทิตย์ 09.00-16.00 น.)

เสามังกร หน้าศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง
จากนั้น มุ่งหน้าไปที่ถนนสมันตประดิษฐ์ มองเห็นสัญลักษณ์โดดเด่นอย่างเสามังกรสูงเท่าตึก 3 ชั้น อยู่กลางวงเวียน เป็นจุดสังเกตให้เห็น “ศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง” ศาลเจ้าเก่าแก่ในเมืองที่ย้อนอดีตไปในปี พ.ศ. 2468 พระยาสมันตรัฐบุรินทร์เป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้างศาลเจ้าจีนแทนหลังเดิมที่ถูกเพลิงไหม้ อาคารสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้องกาบกล้วย พื้นคอนกรีตขัดมัน งดงามแบบเรียบๆ ตามอย่างศาลเจ้าขนาดเล็กในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย

ศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง (แฟ้มภาพข่าว Mgronline)
เมื่อเวลาผ่านไปร่วมครึ่งศตวรรษ ก็ถูกรื้อสร้างใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง เป็นอาคารเดี่ยวที่ต่อปีกซ้ายเพื่อประดิษฐานเทพเจ้าเตาไฟและเทพชั้นรองอื่นๆ การบูรณะใหม่ใช้เวลาไม่นานก็แล้วเสร็จในปี 2512 มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบศาลเจ้าทั่วไป มีลวดลายมังกรหงส์บนหลังคา โดยปัจจุบันเหลือชิ้นส่วนอาคารเก่าเพียงชิ้นเดียว คือ เสาเอกต้นเดียวที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึก

ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาสนสถานที่ชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดสตูล ใช้ประกอบพิธีกรรม และงานเทศกาลต่างๆ เช่น ประเพณีถือศิลกินเจ เป็นต้น

มัสยิดมำบัง
ศาสนสถานสำคัญอีกแห่งที่งามสง่าอยู่ใจกลางเมืองสตูล คือ “มัสยิดมำบัง” สะดุดสายตาด้วยสถาปัตยกรรมรูปแบบสมัยใหม่ทรงโดมเดียวรูปคล้ายบัวตูม หรือเรือในหมากรุกไทย โดมสีทองเรืองรองอร่ามมีลักษณะเป็นเฟือง 8 เฟืองประดับกระจกสีทองจากอิตาลี บนยอดโดมมีดาวกับพระจันทร์เสี้ยวสัญลักษณ์การเผยแพร่ศาสนาอิสลาม

มัสยิดสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอาเก็ม) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองสตูลในยุคนั้น เพื่อเป็นศูนย์รวมการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิม ส่วนชื่อ “มำบัง” ตั้งตามชื่อเมืองสตูลในสมัยนั้นเช่นกัน โดยถือเป็นมัสยิดกลางประจำจังหวัด

ในการสร้างมัสยิดในช่วงแรก ได้ช่างผู้เขียนแบบแปลนมาจากเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ส่วนเงินทุนการก่อสร้างก็ได้จากการขายเรือมาด (ตีเมาซูด๊ะห์) ที่เมืองไทรบุรี ใช้เวลาสร้างนานหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ ต่อมาในปี พ.ศ.2517 มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์เพื่อให้เข้ายุคสมัยมากขึ้น โดยตัวอาคารสีขาวได้รับการตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหินอ่อน กระจกใส แบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ ส่วนนอกเป็นระเบียงมีบันไดขึ้นหอคอยลักษณะเป็นยอดโดม สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองสตูลได้ ส่วนในเป็นห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่ละหมาด ชั้นล่างมีห้องใต้ดิน ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2525

พระอุโบสถ วัดชนาธิปเฉลิม
เดินทางต่อไปที่ “ถนนศุลกานุกูล” เพื่อฉายภาพความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมให้ชัดขึ้น เที่ยวชม “วัดชนาธิปเฉลิม” วัดแห่งแรกของเมืองสตูล ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2425 เดิมชื่อ “วัดมำบัง” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดชนาธิปเฉลิม” และเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน มากว่าศตรรษ

จุดเด่นของวัด มีพระอุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2473 เป็นอาคารชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ใช้เป็นศาลาการเปรียญ ชั้นบนเป็นอาคารไม้ ใช้ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นระเบียง มีบันไดสองข้าง เสาบานหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปเครือเถา ได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง สภาพเดิมที่ยังเหลืออยู่คือโครงสร้างพระอุโบสถและเสาบานหน้าต่างแกะสลักรูปลายเครือเถา ซึ่งถือเป็นมรดกทางพุทธศาสนาที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของจังหวัดสตูล

พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองใต้
ด้านหน้าริมกำแพงวัดมี “พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองใต้” สูงตระหง่าน 40 เมตร ประดิษฐานบริเวณลานโพธิ์ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2553 การก่อสร้างได้แบบมาจากวัดกุสินาราเฉลิมราช ซึ่งเป็นวัดไทยในประเทศอินเดีย จุดประสงค์การสร้างเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานมาให้วัดชนาธิปเฉลิมกับพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศเมียนมา

บรรยากาศถนนย่านเก่า
ปิดท้ายชมเมืองสตูล ด้วยการเที่ยวชมความร่วมสมัยในย่านเก่าที่ “ถนนบุรีวานิช” (ถนนมำบังนังคะรา) ถนนสายแรกของเมืองสตูล ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่าร้อยปี เคยเป็นย่านการค้าที่สำคัญ ซึ่งในวันนี้ยังมีบรรยากาศเก่าผสมใหม่ผสานกันลงตัว เรียงรายไปด้วยอาคารร้านค้าห้องแถวสถาปัตยกรรมแบบชิโนยูโรเปียน กระจัดกระจายอยู่ร่วมไปกับอาคารยุคใหม่ โอบล้อมไปด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรมของละแวกรอบๆ ทั้งมัสยิด ศาลเจ้า และวัด

 สตรีทอาร์ตในตัวเมืองสตูล
ความเพลิดเพลินจากการเดินย่ำสัมผัสถนนสายเก่า ยังเพิ่มเติมอรรถรสมากกว่าเดิม เมื่อมีความร่วมสมัยอย่างผลงาน “สตรีทอาร์ต” กระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ซึ่งความงามทางศิลปะก็แฝงอัตลักษณ์กับเรื่องราวความเป็นท้องถิ่นสตูลเอาไว้ได้อย่างเป็นชัดเจน เช่น ภาพวิถีชีวิต ภาพสตรีชาวมุสลิม หรือบางชิ้นงานก็เป็นสตรีทอาร์ตน่ารักๆให้ผู้มาเยือนมีส่วนร่วมไปกับการถ่ายภาพเช็กอินได้แบบสนุกๆ

 สตรีทอาร์ตในตัวเมืองสตูล
โปรแกรมเดินชมเที่ยว “ตัวเมืองสตูล” ใช้เวลาเพียงแค่วันเดียว ก็สามารถเก็บสถานที่สำคัญได้ครอบคลุม ทำให้เราได้รู้จักจังหวัดแห่งนี้มากขึ้นว่าเป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่มีเสน่ห์ในความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมแห่งดินแดนปลายด้ามขวาน

 สตรีทอาร์ตในตัวเมืองสตูล
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline

 สตรีทอาร์ตในตัวเมืองสตูล



กำลังโหลดความคิดเห็น