ฤดูกาลและสภาพอากาศต่างมีผลสำคัญต่อการท่องเที่ยวไม่ว่าจะภูมิภาคใดก็ตาม โดยสำหรับประเทศไทยแล้ว ช่วงเวลาท่องเที่ยวที่นิยมมากที่สุดทั้งจากชาวไทยและชาวต่างขาติคือเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ซึ่งจะตรงพอดีกับฤดูหนาวของทางฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนช่วงกลางปี การท่องเที่ยวไทยจะชะลอตัวลงเนื่องจากเป็นฤดูมรสุม มีพายุเข้าต่อเนื่องทำให้มีฝนตกชุกชุม แต่ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เพราะเป็นฤดูร้อน รวมทั้งโรงเรียนปิดเทอม ทำให้หลายครอบครัวใช้เวลานี้ร่วมกันในการท่องเที่ยวและพักผ่อน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้รายได้และกำไรของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจึงแปรผันตามฤดูกาล
จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะพบได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 เพิ่มขึ้นมาเท่ากับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของปี 2022 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของปี 2019 โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยมากที่สุด แบ่งตามสัญชาติได้แก่ มาเลเซีย จีน และอินเดีย ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มของปี 2023 จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 25-30 ล้านคน หรือคิดเป็น ประมาณ 62-75% ของปี 2019 ซึ่งแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 5-5.2 ล้านคน และในสิ้นปี 2023 คาดว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะเร่งฟื้นตัวขึ้นมาทะลุระดับ 90% ของปี 2019 โดยอ้างอิงจากหลายผลสำรวจของชาวจีน ประเทศไทยต่างติดอันดับ 1 ใน 3 ประเทศที่ชาวจีนอยากมาท่องเที่ยวและพักผ่อนมากที่สุด เนื่องด้วยทั้งราคาค่าห้องพักและค่าครองชีพที่ถือได้ว่าถูกกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค East Asia และ Asia Pacific
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวโน้มการฟื้นตัวในระยะสั้นเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน จะพบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวยังคงไม่มีทิศทางการเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอาจจะฟื้นตัวล้าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีสาเหตุมาจากกำลังซื้อที่หดหายและนิสัยการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวจีนจากผลกระทบของวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศจีนที่เปราะบาง
หากเราไปพิจารณาตัวเลขการท่องเที่ยวภายในประเทศจีน จากข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน จะพบได้ว่าในช่วงวันหยุดแรงงานของจีนครั้งล่าสุด ทั้งจำนวนการเดินทางและปริมาณมูลค่าการใช้จ่ายภายในประเทศของชาวจีนปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวในเมืองรอง ตามที่ทางรัฐบาลกลางจีนให้การรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่แสดงถึงความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความต้องการในการท่องเที่ยวของชาวจีน ดังนั้นเรื่องการบริโภคของชาวจีนจึงดูไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล
จากผลสำรวจของ McKinsey and Company พบว่าพาสปอร์ตของชาวจีนประมาณ 20% หมดอายุระหว่าง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลังจากที่มีการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการและรัฐบาลกลางกลับมาเปิดให้ต่ออายุพาสปอร์ตได้ตามปกติ จึงนำไปสู่ปัญหาคอขวดชั่วคราวในขั้นตอนการทำพาสปอร์ตและการขอวีซ่า นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมการบินของจีน จะพบว่าจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศนั้นสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศยังคงค้างอยู่ที่ระดับ 50% ของปี 2019 โดยติดเรื่องข้อจำกัดของจำนวนเครื่องบิน บุคลากรของสายการบิน และประสิทธิภาพของสนามบินที่จะมารองรับผู้โดยสาร ส่งผลให้ค่าโดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนโควิด นอกจากข้อจำกัดทางฝั่งจีนแล้ว ทางฝั่งท่าอากาศยานไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินหลักของไทย ยังมีข้อจำกัดเรื่องบริการภาคพื้นดินที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสาร โดยในเบื้องต้นได้มีการว่าจ้างบริษัทภายนอกชั่วคราวเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ส่วนระยะยาวจะมีการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร Satellite Terminal 1 (SAT-1) ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี และมี 26 หลุมจอดอากาศยาน ส่วน Runway 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งก็จะช่วยขยายขีดความสามารถของสนามบินให้รองรับเที่ยวบินได้เพิ่ม 28 เที่ยว/ชั่วโมง
โดยสรุปภาพรวมช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยยังคงเต็มไปด้วยความหวังที่จะเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาติอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามที่มีผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวคือความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจจะบานปลาย จนนำไปสู่การประท้วงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร ที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนในกลุ่ม business travel
ด้วยเหตุนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงในระยะสั้น จึงควรให้ความสนใจต่อบริษัทที่มีแหล่งรายได้ในต่างประเทศ เพื่อรับประโยชน์จากฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงซัมเมอร์ของยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ท้ายสุดแล้ว คาดว่าถ้าหากมีความชัดเจนทางการเมืองเพิ่มขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง เช่น การพาณิชย์ การบริโภค การคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นต้น จะได้รับอานิสงส์ในการฟื้นตัวมากที่สุด เนื่องจากทุกพรรคการเมืองต่างมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องจักรตัวสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างยั่งยืน