สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย MOU ขับเคลื่อน “มัสยิดปลอดบุหรี่ 90 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ หนุนการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ลดสูบ-ลดป่วยจากบุหรี่ ชี้คนสูบบุหรี่ในศาสนสถานสูง 21%
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ที่โรงแรมญันนะตีย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย มูลนิธิคนเห็นคน สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน และศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ 5 จังหวัดภาคใต้
โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มที่ลดลง จากสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี 2564 มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในทุกรอบการสำรวจ มีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ 22.4% โดยจังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุด 5 ลำดับแรกล้วนอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และยังพบการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะศาสนสถานในทุกศาสนามากถึง 21% ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี
“สสส. มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมปลอดบุหรี่ โดยเฉพาะการลดปัญหายาสูบในพื้นที่ภาคใต้ โดยร่วมลงนาม MOU กับภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้มัสยิดใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 90 แห่ง เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยจะกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ มัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างถาวร และลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ ให้คำแนะนำการควบคุมยาสูบของไทยให้มีประสิทธิภาพ ต้องใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยกว่า 1% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ และภายใน 15 ปี จะช่วยลดคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,790 คน ลดคนป่วยจากโรคไม่ติดต่อ 169,117 คน” ดร. สุปรีดา กล่าว
ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย กล่าวว่า มัสยิด ถือเป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิม จึงควรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบ มูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินงานมัสยิดปลอดบุหรี่ร่วมกับ สสส. มากว่า 10 ปี ได้พัฒนาให้เกิดต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ทุกภูมิภาค 847 แห่ง คิดเป็น 21% ของมัสยิดทั่วประเทศ สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ใน 5 จังหวัดภาคใต้ สู่การเป็น “มัสยิดปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน” โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญคือ 1.พื้นที่รอบมัสยิดต้องมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ไม่น้อยกว่า 10 เมตร 2.มีมาตรการควบคุมยาสูบเป็นลายลักษณ์อักษร 3.มีกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ เช่น เชิญชวนให้เลิกบุหรี่ การให้คำปรึกษา 4.มีเทศนาทุกวันศุกร์เรื่องการต้านสิ่งมึนเมา (คุฏบะฮ์ลาคอมรฺ) หรือเทศนาต้านบุหรี่และยาสูบ 5.มีมุมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่ เป็นจุดนิทรรศการของมัสยิด ซึ่งจะทำให้มัสยิดปลอดบุหรี่ทั้งประเทศมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงมีสุขภาวะที่ดี ปลอดโรคที่เกิดจากบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอื่น ๆ
นายอีซา มูเก็ม ตัวแทนมัสยิดฮาลีมาตุสสะดียะห์ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หนึ่งในมัสยิดต้นแบบปลอดบุหรี่ กล่าวว่า มัสยิดฮาลีมาตุสสะดียะฮ์ ได้พัฒนาเป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ 100% กรรมการของมัสยิดสามารถเลิกสูบบุหรี่ถาวรได้ 6 คน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับคนในมัสยิดและชุมชน นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลส่งเสริมการลด ละ เลิกบุหรี่ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยได้รับความร่วมมือจากร้านค้าบริเวณโดยรอบ 50 เมตรจากมัสยิด ไม่มีการขายบุหรี่ 5 ร้านค้า และมีชุมชนร่วมโครงการลด ละ เลิกสูบบุหรี่กับมัสยิด 3 แห่ง คนในชุมชนมากกว่า 50% สามารถลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงได้ ทั้งนี้ การร่วมลงนามใน MOU ครั้งนี้ จะเพิ่มเติมมาตรการให้เข้มข้นขึ้น โดยมุ่งเน้นการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องอันตรายของยาสูบในช่วงการละหมาดทุกวันศุกร์ และส่งเสริมการให้คำปรึกษาช่วยเลิกบุหรี่