ปักหมุดตามรอยหนัง “แมนสรวง” ตามพ่อฉัตร-พ่อเขม ไปเที่ยว “อยุธยา” กับฉากเล่นว่าวและพูดคุยบนต้นไม้ และยังมีวัดสวยที่ปรากฎเป็นฉากในเรื่องอีกด้วย
ภาพยนตร์ไทยกระแสแรงแห่งปีนี้ “แมนสรวง” ที่ได้รับเสียงชื่นชมทั้งด้านโปรดักชั่น ฉาก แสง สี การแต่งกาย ไปจนถึงการแสดง และเนื้อเรื่องที่เข้มข้น อีกทั้งยังมีความโดดเด่นในการส่งออกความเป็นไทยในรูปแบบ Soft Power ออกไปสู่สายตาชาวโลก
โดยเนื้อเรื่องของ “แมนสรวง” เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในราวสมัยปลายรัชกาลที่ ๓ ในสถานเริงรมย์ที่โอ่อ่าและลึกลับที่สุดในพระนคร นามว่า “แมนสรวง” ที่ฉากหน้าเต็มไปด้วยความรื่นรมย์ของศิลปะการแสดงต่างๆ แต่เบื้องหลังนั้นเต็มไปด้วยความลับ อำนาจ การลอบทำร้าย มิตรแท้ และศัตรูที่คาดไม่ถึง
นำแสดงโดย ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ (อาโป) รับบท เขม , ภาคภูมิ ร่มไทรทอง (มาย) รับบท ฉัตร , อัศวภัทร พลพิบูลย์ (บาส) รับบท ว่าน , ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา (ต๋อง) รับบท ฮ้ง ร่วมด้วยนักแสดงยอดฝีมืออีกมากมาย
ซึ่งฉากในการถ่ายทำ “แมนสรวง” นั้นถูกออกแบบและจัดสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมที่หลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่มรวยทางด้านวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้น ที่มีการเปิดรับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในเมืองไทย
แต่ก็ยังมีอีกบางฉากที่เลือกสถานที่ถ่ายทำใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เราสามารถไปเที่ยวตามรอย พ่อฉัตร-พ่อเขม กันได้
ฉากเล่นว่าว / นั่งคุยบนต้นไม้ - พระราชวังโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ฉากเล่นว่าวและพูดคุยเปิดใจบนต้นไม้ของฉัตรและเขม ถ่ายทำในพื้นที่ “พระราชวังโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งใครที่จะไปตามรอยในจุดนี้ สามารถซื้อบัตรเข้าชมบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วเดินทะลุด้านหลังเข้ามาในเขตพระราชวังโบราณได้ และต้นไม้ที่เป็นจุดถ่ายทำนั้น หากเดินตรงเข้ามาแล้วจะอยู่ทางด้านขวามือ
“พระราชวังโบราณ” เป็นพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ มีการสร้างพระที่นั่งต่างๆ เพิ่มขึ้นในอีกหลายครั้งตลอดระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งปัจจุบัน พระราชวังหลวงเหลือแต่เพียงฐานรากของพระที่นั่งองค์ต่างๆ เท่านั้น
ก่อนเดินเข้ามาในเขตพระราชวังโบราณ ต้องผ่าน “วัดพระศรีสรรเพชญ์” ที่เดิมนั้นเป็นวัดหลวงประจำพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และเป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพมหานคร
ในวัดพระศรีสรรเพชญ์มีเจดีย์ทรงลังกาจำนวน 3 องค์ วางตัวเรียงยาวตลอดทิศตะวันออกและทิศตะวันตก สร้างขึ้นเป็นองค์แรกทางฝั่งตะวันออก โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พระราชบิดา) ต่อมาก็ทรงให้สร้างเจดีย์องค์ต่อมา (องค์กลาง) เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) และเจดีย์ฝั่งตะวันตก สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร) เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระราชบิดา รวมเป็นสามองค์ตามที่เห็นในปัจจุบัน
ฉากวัดช่วงกลางและท้ายเรื่อง – วัดธรรมาราม อยุธยา
ฉากวัดที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ทั้งตอนที่เขมและว่านเดินเข้ามาในวัด และฉากในวัดท้ายเรื่องของฉัตร ถ่ายทำที่ “วัดธรรมาราม” จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดธรรมาราม เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งทิศตะวันตก นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ไม่ปรากฎว่าสร้างมาตั้งแต่ในรัชสมัยใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มาปรากฏชื่อครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2112 กองทัพบางส่วนตั้งทัพอยู่ที่วัดธรรมาราม
นอกจากนี้ ที่วัดแห่งนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา โดยเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอุบาลีมหาเถระ กับ พระอริยมุนีมหาเถระ ที่ถูกแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาจารย์ออกไปลังกาทวีป เพื่อให้อุปสมบทชาวลังกา เนื่องจากพุทธศาสนาได้เสื่อมหายไปจากดินแดนลังกา จนทำให้พระพุทธศาสนาลัทธิสยามวงศ์เกิดขึ้น ณ ลังกาทวีป นับแต่นั้นมา
ภายในวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า, พระโกนาคมพุทธเจ้า, พระกัสสปพุทธเจ้า และพระโคตมพุทธเจ้า ด้านหลังพระประธานยังมีห้องเล็กๆ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ส่วนที่พระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย (ปัจจุบันมีการบูรณะพระอุโบสถอยู่) ตรงกลางระหว่างพระอุโบสถและวิหารมี เจดีย์ประธาน มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยม มีเจดีย์บริวารขนาดเล็กล้อมรอบทั้ง 4 มุม
อีกฝั่งของวัดยังมีหอไตร หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ และ พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ (วิหาร หอไตร และพิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมด้านในเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์)
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline