xs
xsm
sm
md
lg

ดรามาถกสนั่น! คือใครควรบูชาไหม ทำแฮชแท็ก #ครูกายแก้ว ติดเทรนด์อันดับ 1 ของทวิตเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดรามาสนั่น ทำแฮชแท็ก #ครูกายแก้ว พุ่งติดเทรนด์อันดับ 1 ของทวิตเตอร์วันนี้ ด้าน “ศ.ธงทอง” ลั่นรูปอะไรก็ไม่รู้ที่กราบไหว้กันอยู่ มองในทางศิลปะก็สอบไม่ผ่านแน่ บ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจของสมาชิกในสังคมได้ ด้านเพจพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายเผย ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตัวจริงคือท้าวกุเวร

จากกรณีดรามาและกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมาเกิดเหตุรถกระบะที่บรรทุกรูปปั้นคนกึ่งนก มีปีก เล็บยาวสีแดง และเขี้ยวสีทอง และพบในเวลาต่อมาว่ารูปปั้นนั้นคือ "ครูกายแก้ว" ซึ่งรถที่บรรทุกไม่สามารถผ่านสะพานลอยไปได้ โดยจุดเกิดเหตุเกิดขึ้นบนถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า ก่อนถึงรัชดาภิเษก 36 ทำให้การจราจรติดขัดท้ายแถวสะสมต่อเนื่องสะพานพระราม 7 และเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว มีการบวงสรวงเบิกเนตร “ครูกายแก้ว” โดยมีผู้ศรัทธาเข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก ระหว่างพิธีได้เกิดฝนฟ้าคะนองลมแรง จึงเกิดดรามาถกเถียงตามมาอย่างมากมาย ถึง “ครูกายแก้ว” ว่าจริงๆแล้วเป็นใคร ควรกราบไหว้บูชาหรือไม่ อีกทั้งวันนี้ (15 ส.ค.) พบว่าแฮชแท็ก #ครูกายแก้ว กำลังติดเทรนด์อันดับ 1 ของทวิตเตอร์อยู่อีกด้วย

วันนี้ (15 ส.ค.) เฟซบุ๊ก “หรือ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตตำแหน่งอีกมากในองค์กรต่างๆ ได้โพสต์ให้ความรู้ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า “ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ปรากฏข่าวเรื่อง ครูกายแก้ว ว่าเป็นรูปเคารพที่ได้รับความนับถือในหมู่คนจำนวนหนึ่ง นัยว่าครูกายแก้วนี้เป็นครูบาอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ผมยังไม่เคยเห็นหลักฐานยืนยันได้แน่นอนว่าเล่าลือกันมาจากที่ไหน ความเลื่อมใสในเรื่องอย่างนี้แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจของสมาชิกในสังคมได้ในระดับหนึ่ง และถ้าไม่เกรงใจกันแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นระดับที่สูงมากเสียด้วย

รูปอะไรก็ไม่รู้ที่กราบไหว้กันอยู่นี้ มองในทางศิลปะก็สอบไม่ผ่านแน่ จะว่าเป็นมนุษย์ก็เห็นจะไม่ใช่ จะเป็นสัตว์ก็ไม่เชิง ผมยังนึกไม่ออกว่าการไปบูชารูปปั้นอย่างนี้จะเป็นสวัสดิมงคลได้อย่างไร แถมเกรงว่าจะเกิดผลตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ สำหรับประเพณีบ้านเมือง สถานการณ์อย่างนี้คล้ายกับที่คนแต่โบราณท่านพูดว่า ผีป่าก็จะวิ่งมาสิงเมือง ยิ่งนัก เฮ้อ!”

ด้านเพจ “PhiMai National Museum:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย” ได้ออกมาให้ความรู้ที่ถูกต้องถึงกรณีครูบาอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด โดยระบุข้อความว่า “หลายๆ ท่านอาจพอทราบกระแสของครูกายแก้วกันมาบ้างแล้ว สำหรับในวันนี้แอดมินจะพาไปรู้จัก "ครู" ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตัวจริงและเทพแห่งความมั่งคั่งที่ได้รับการยอมรับนับถือมาเป็นพันปีกันค่ะ

สำหรับ "ครู" ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามจารึกปราสาทตาพรหม กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้ประดิษฐานรูปเหมือนของครู 2 คน คือ "ศรีชยมังคลารถเทวะ" และ "ศรีชยกีรติเทวะ" พระองค์มีความศรัทธาและกตัญญูต่อครูของพระองค์มาก ในจารึกยังระบุว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงอุทิศสิ่งของเป็นทักษิณาทานแก่ครูของพระองค์ทั้งวอทองคำ ทอง ไม้เท้า ธงรูปนกยูง ดอกบัว และผ้าไหม พระราชทานชื่อ ที่อยู่อาศัยและหมู่บ้านให้แก่ครู แม้มารดาและพี่ชายของครูก็ได้รับพระราชทานสิ่งของต่างๆ มากมาย ส่วนพระกระยาหารของพระเจ้าชัยวรมันก็ได้แบ่งเป็น 4 ส่วน เพื่อพระราชทานแก่ครู มารดา และพระเชษฐา ส่วนที่เหลือ 1 ส่วนจึงให้พระองค์เอง

เราคงทราบแล้วนะคะว่าจริงๆ แล้วครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามจารึกคือใครบ้าง ส่วนเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งในศาสนาพุทธและพราหมณ์ฮินดูที่ได้รับการนับถืออย่างแพร่หลายเชื่อว่าหลายคนอาจจะคุ้นหูอยู่บ้าง นั่นคือ ท้าวกุเวร ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือพระโพธิสัตว์ชัมภละในพุทธศาสนา ลักษณะสำคัญของทั้งสององค์คือ มักมีลักษณะอ้วน มีพุง แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ถือภาชนะใส่ของมีค่า ถุงเงิน ประดับประดาเพชรพลอย บางครั้งถือมะนาวหรือทับทิมหรือพังพอนที่กำลังคายเพชรพลอย

สำหรับใครที่สนใจ ท้าวกุเวรในวัฒนธรรมเขมรโบราณได้นิยมสลักในฐานะเทพประจำทิศ ณ ศาสนสถานต่างๆ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทพิมาย สายมูสามารถไปชมและบูชากันได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย Phimai Historical Park อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park”

คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น