xs
xsm
sm
md
lg

สักการะ 4 องค์พระใหญ่แห่งเมืองอ่างทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลวงพ่อใหญ่ วัดม่วง
“อ่างทอง” เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางใกล้กรุงเทพฯ ที่น่าสนใจไม่น้อย หลากหลายไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญด้านประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะวัดวาอารามเก่าแก่ที่งามวิจิตร และจังหวัดนี้ยังมีพระพุทธรูปที่งดงามอลังการครองสถิติทั้งในระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก

การไปเยือนอ่างทอง พุทธศาสนิกชนจึงไม่ควรพลาดแวะไปสักการะ “องค์พระใหญ่” เพื่อความเป็นสิริมงคล หรือหากใครไม่ได้เป็นชาวพุทธ การได้ลองแวะไปชมความยิ่งใหญ่ของงานพุทธศิลป์ ก็นับเป็นประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจเมื่อได้เห็น

หลวงพ่อใหญ่ วัดม่วง
หลวงพ่อใหญ่
วัดม่วง อ.วิเศษชัยชาญ

“หลวงพ่อใหญ่” หรือ “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่มีความสูงถึง 95 เมตร ขนาดหน้าตักกว้าง 62 เมตร ขนาดเท่าตึกสูงประมาณ 32 ชั้น ถือเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นพระพุทธรูปองค์นั่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

พระพุทธรูปองค์นั่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
หลวงพ่อใหญ่ ประดิษฐานตระหง่านงามอยู่ที่วัดม่วง ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่แขวงเมืองวิเศษชาญที่เคยเป็นเมืองหน้าด่านมีความเจริญรุ่งเรือง แต่หลังจากเสียกรุงก็เหลือเพียงซากปรักหักพังของวัดวาอาราม ภายหลังท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ (หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ) มาปักกลดธุงดงค์ เห็นว่าบริเวณนี้เคยเป็นวัดร้างจึงน่าปฏิบัติธรรม แต่ขณะปฏิบัติธรรมได้ปรากฏนิมิตเห็นองค์หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แดง บอกว่าให้ท่านช่วยสร้างวัดม่วงขึ้นมาใหม่

การแตะปลายนิ้วเพื่อขอพร
สำหรับการสร้างองค์หลวงพ่อใหญ่ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2534 ท่านพระวิบูลอาจารคุณ ตั้งจิตอธิษฐานร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศสมทบทุนสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ระดับโลกเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 16 ปี

มีตำนานเล่าขานต่อกันมาว่า หากได้สัมผัสที่ปลายพระนิ้วหลวงพ่อใหญ่ ท่านจะประทานพรให้เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน และในแต่ละนิ้วของหลวงพ่อก็ประทานพรให้ต่างกันไป

พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล
พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล
วัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง

องค์พระพุทธไสยาสน์ ที่มีนามว่า “พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล” หรือ “พระศรีเมืองทอง” เป็นพระนอนเก่าแก่ ณ “วัดขุนอินทประมูล” วัดโบราณที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย องค์พระฯ ถือเป็นพระนอนขนาดใหญ่ติด 1 ใน 5 ของประเทศไทย ความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาท ได้ 50 เมตร

แต่เดิมพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร แต่ได้รับความเสียหายจากการเสียกรุง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาณาบริเวณรอบองค์พระ เป็นเสากับแนวกำแพงโบราณสถานเก่าซึ่งเคยเป็นพระวิหารมาก่อน แต่องค์พระยังคงโดดเด่นสมบูรณ์ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานนับศตวรรษ

ภาพมุมสูง วัดขุนอินทประมูล
ตำนานเรื่องเล่าการสร้างพระพุทธไสยาสน์มีอยู่ว่า ในสมัยก่อนองค์พระนอนมีขนาดยาว 40 เมตร ไม่เป็นที่ทราบว่าใครสร้างไว้ ต่อมา “ขุนอินทประมูล” ผู้เป็นนายอากร ได้มาบูรณะพระพุทธไสยาสน์ โดยยักยอกเงินของหลวง ความไปถึงพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมขึ้นมาไต่สวน และสั่งให้ราชทัณฑ์เฆี่ยนสามยก แต่ขุนอินทประมูลไม่ยอมรับ จนสุดท้ายก็ถึงแก่ความตาย ทั้งนี้เพราะกลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์ บ้างก็ว่ากลัวทำให้พระศาสนามัวหมอง

หลังจากนั้น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทราบความตามกราบทูล ทรงเห็นว่าขุนอินทประมูลมีความศรัทธาต่อ พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระราชทานนามวัดว่า “วัดขุนอินทประมูล” พร้อมถวายนามพระพุทธไสยาสน์ว่า “พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล”

 จิตรกรรมในพระอุโบสถ วัดขุนอินทประมูล
สักการะพระนอนแล้ว อย่าลืมไปชมจิตรกรรมบนพระอุโบสถหลังใหม่ด้านหลัง ที่ชั้นสองมีจิตรกรรมร่วมสมัย ภาพผู้บริจาคเงินให้ทางวัด เป็นภาพเสมือนจริงของบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ในอากัปกิริยาแตกต่างกันไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำบุญให้วัด

หลวงพ่อโต วัดไชโยวรวิหาร
หลวงพ่อโต
วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย

“หลวงพ่อโต” หรือ “พระมหาพุทธพิมพ์” เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของอ่างทองที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ระดับประเทศ ด้วยมีพุทธลักษณะแปลกตาศิลปะรัตนโกสินทร์แบบปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ โดดเด่นกว่ายุคสมัย คือ พระพักตร์กับพระกรรณเหมือนคนธรรมดามากกว่า มีริ้วรอยย่นของสบงจีวรอย่างชัดเจน ครองจีวร และพาดสังฆาฏิกว้างตามแบบใหม่

องค์พระประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารของ “วัดไชโยวรวิหาร” หรือ “วัดเกษไชโย” ซึ่งเดิมเป็นวัดราษฏร์สร้างมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีความสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม เป็นผู้ดำริสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นที่วัด

หลวงพ่อโต วัดไชโยวรวิหาร
แต่พระพุทธรูปที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างไว้นั้นไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการสร้างพระวิหาร จำเป็นต้องมีการกระทุ้งราก พระพุทธรูปองค์ใหญ่ทนรับการกระเทือนไม่ได้จึงพังทลายลงไป

รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ รับสร้างพระพุทธรูปใหม่เป็นของหลวง แล้วโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ นายช่างปั้นพระพุทธรูปฝีพระหัตถ์ยอดเยี่ยมในสมัยนั้นมาช่วย โดยวางรากฐานการก่อใหม่ใช้โครงเหล็กยึดเป็นโครงรัดอิฐปูนไว้ภายใน เหมือนดังร่างที่มีกระดูก ลดขนาดให้เล็กลงเหลือเท่าที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ และมีพุทธลักษณะที่งดงามแบบสมัยใหม่

พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร
พระพุทธไสยาสน์
วัดป่าโมกวรวิหาร อ.ป่าโมก

พระพุทธไสยาสน์ที่งดงาม และมีขนาดใหญ่อีกองค์หนึ่งในอ่างทอง อยู่ที่ “วัดป่าโมกวรวิหาร” องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัดชาวบ้านจึงบวงสรวงมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ

ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการะพระพุทธรูปองค์นี้ก่อนไปทำศึกกับพระมหาอุปราช

พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร
ทั้งนี้สมัยก่อนวัดเคยเป็นวัดสองวัดที่ตั้งอยู่ติดกัน คือ “วัดชีปะขาว" กับ “วัดตลาด” แต่กระแสน้ำเซาะเข้ามาใกล้พระวิหาร “พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ” โปรดเกล้าฯ ให้นำองค์พระนอนจากริมแม่น้ำ ชะลอมาไว้ยังที่ตั้งปัจจุบัน รวมทั้งโปรดให้สร้างวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานองค์พระ และโปรดให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกัน ก่อนพระราชทานนามว่าวัดป่าโมก

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ที่เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย มีรูปทรงหลังคาเป็นฐานวิหารอ่อนโค้งรูปสำเภา ภายในมี “พระพุทธไสยาสน์" ขนาดใหญ่ระดับประเทศ ก่อด้วยอิฐปูนปั้นสีทองอร่าม นอนตะแคงขวาแบบสีหไสยา พระเศียรหนุนพระเขนย รูปทรงกระบอก 3 ใบ ลดหลั่นกันจากใหญ่ขึ้นไปหาเล็ก

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น