xs
xsm
sm
md
lg

“ปอยส่างลอง” แม่ฮ่องสอน งานบวชเณรน้อยอานิสงส์สูงล้น จากพลังศรัทธาของชาวไทใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ประเพณีปอยส่างลอง งานบวชเณรน้อยอานิสงส์สูงล้น จากพลังศรัทธาของชาวไทใหญ่
ชวนสัมผัสเสน่ห์มนต์ขลังของประเพณี “ปอยส่างลอง” หนึ่งเดียวในเมืองไทย อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ขอชาวไทใหญ่แห่งเมืองสามหมอก ซึ่งเชื่อกันว่า “การได้บวชส่างลองจะได้อานิสงส์ผลบุญสูงสุด”

ทุก ๆ ปี (ในยามปกติ) ในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีการจัดงานประเพณี “ปอยส่างลอง” อันงดงามเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียว

ปอยส่างลองเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่งของชาวไทใหญ่ (ไทยใหญ่,ไต) ที่ได้ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นหนึ่งในประเพณีที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

รู้จักปอยส่างลอง


ประเพณีปอยส่างลอง งดงามเปี่ยมศรัทธา ทรงคุณค่าคู่วิถีไทใหญ่
ปอยส่างลอง เป็นประเพณีการบรรพชาหรือการบวชเณรของชาวไทใหญ่ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างช้านาน (เปรียบได้ดังประเพณีบวชลูกแก้วของชาวล้านนา)

คำว่า “ปอยส่างลอง” เป็นภาษาไทใหญ่ “ปอย” แปลว่า งาน เช่นงานปอยเหลินสิบเอ็ด ปอยจ่าตี่ “ส่าง” เพี้ยนมาจาก สางหรือขุนสาง หมายถึง พระพรหม หรืออีกความหมายหนึ่งมาจากคำว่าเจ้าส่าง ซึ่งหมายถึงสามเณร ส่วนคำว่า “ลอง” มาจาก “อลอง” หมายถึง พระโพธิสัตว์ หรือหน่อพุทธางกูร (หน่อเนื้อเชื้อไขพระพุทธเจ้า) หรือราชบุตร

ปอยส่างลอง ถือคติในการบวชเณรที่เลียนแบบพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช
ปอยส่างลอง ถือคติในการบวชเณรที่เลียนแบบพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช ดังนั้นการกระทำทุกอย่างในช่วงที่เป็นส่างลองก็จะเสมือนว่าเป็นการปฏิบัติต่อกษัตริย์ หรือบางพื้นที่ก็เปรียบส่างลองเป็นดังเจ้าชายองค์น้อย

ด้วยเหตุนี้จึงต้องแต่งกายส่างลองกันให้สง่างามเต็มยศ โดยมีการแต่งกายส่างลองตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณ นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อมีชายเชิงงอนปักดิ้นไหม ประดับด้วยเพชรนิลจินดาทั้งสร้อย กำไล และแหวน ศีรษะโพกด้วยผ้าแพรและประดับด้วยดอกไม้ (หรือสวมมงกุฎ หรือ ชฎายอดแหลมที่มีในบางพื้นที่

จ้องหรือมวยผม ที่ร่วมรับบุญบนเครื่องโพกหัวส่างลอง
ขณะที่บนเครื่องประดับศีรษะส่างลองหลาย ๆ คน จะมี “จ้อง” ซึ่งเป็นมวยผมของผู้หญิง (ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้อง) ที่ต้องการร่วมรับบุญไปกับส่างลอง จึงได้เก็บรักษาดูแลเส้นผมไว้เป็นอย่างดี เป็นเวลายาวนานหลายปี ก่อนจะตัดมัดเป็นจ้องนำไปไว้บนเครื่องโพกหัวของส่างลองเพื่อขอร่วมรับในกุศลผลบุญอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้

นอกจากนี้ยังต้องมีคนคอยกางร่ม หรือ “ทีคำ” หรือร่มทองคำกางกันแดดให้ ที่สำคัญคือจะต้องมี “ตะแปส่างลอง” หรือ “ตะแป” เป็นพี่เลี้ยงส่วนตัวคอยดูแลส่างลองอย่างใกล้ชิด พร้อมให้เด็กขี่คอไปตลอดไม่ยอมให้เท้าเด็กแตะพื้นดิน แม้กระทั่งตอนเข้าห้องน้ำ ตะแปก็ต้องให้เด็กขี่คอพาเข้าไป

ตะแปต้องให้ส่างลองขี่คอไปตลอด แม้กระทั่งยามไปเข้าห้องน้ำ
สำหรับผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นตะแปนั้น ต้องเป็นผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคยกับส่างลองเป็นอย่างดี และพ่อแม่ของเด็กก็ไว้เนื้อเชื่อใจอย่างมากถึงให้รับทำหน้าที่อันมีเกียรตินี้

เรื่องนี้สันนิษฐานว่าเป็นกุศโลบายเพื่อป้องกันไม่ให้ส่างลองซึ่งยังเป็นเด็กน้อยซุกซนจนได้รับอันตรายก่อนที่จะได้บวชเรียน รวมถึงข้าวของเครื่องประดับบนตัวส่างลองนั้นล้วนเต็มไปด้วยของมีค่ามากมาย จึงจำเป็นต้องมีตะแปเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลป้องกันไม่ให้คนมาลักขโมย หรือคอยเป็นหูเป็นตาเวลาที่เด็กอาจเผลอพลั้งทำสิ่งของเครื่องประดับตกหล่นไป

บวชเณรน้อย บุญกุศลสูงล้น


ชาวไทใหญ่เชื่อกันว่า “การได้บวชส่างลองจะได้บุญกุศลสูงสุด”
ปอยส่างลองเป็นประเพณีที่เกิดจากพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่า “การได้บวชส่างลองจะได้บุญกุศลสูงสุด” มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่กว่าการบวชพระเสียอีก เพราะเด็ก ๆ ที่บวชส่างลองนั้นยังมีจิตใจที่บริสุทธิ์อยู่ ชาวไทใหญ่จึงตั้งใจที่จะจัดงานบวชส่างลองกันอย่างเต็มที่เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด

ดังนั้นประเพณีปอยส่างลองจึงเป็นการรวบรวมอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม และงานศิลป์ต่าง ๆ ของชาวไทใหญ่เข้าไว้ด้วยกันอย่างมากมายภายในงานนี้ ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อ พิธีกรรม การแต่งกาย เครื่องประดับ ขบวนแห่ การแสดง อาหารการกิน เป็นต้น

ส่างลองต้องมีคนคอยกางร่ม หรือ “ทีคำ” ให้เสมอ
อย่างไรก็ดีแม้ว่าการบวชส่างลองจะเป็นพิธีที่เชื่อว่าจะได้อานิสงค์ผลบุญสูงล้น แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นเงาตามตัว (ปัจจุบันตกอยู่ที่ราว 50,000 - 100,000 ต่อคน)

นั่นจึงทำให้ครอบครัวคนยากจนที่มีลูกชาย แม้อยากบวชก็ไม่สามารถทำได้ ส่วนครอบครัวฐานะดีที่มีแต่ลูกสาวก็ไม่สามารถบวชส่างลองได้

ดังนั้นเพื่อเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงเกิดมี “พ่อข่าม” “แม่ข่าม” หรือผู้ที่รับเป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์ในการบวชให้แก่เด็กชายที่ไม่มีทุนทรัพย์แต่ต้องการบวชส่างลอง เรียกง่ายๆ ว่า ฝ่ายหนึ่งได้บวช ฝ่ายหนึ่งได้บุญมีความสุขอิ่มใจกันทั้งสองฝ่าย

ปอยส่างลอง งานแห่งศรัทธา


ส่างลองตัวน้อยออกลีลาร่ายรำเต็มที่ในขบวนแห่โคหลู่
ประเพณีปอยส่างลองนิยมจัดกันเป็นเวลา 3-7 วัน แล้วแต่เจ้าภาพจะกำหนด และแล้วแต่กำลังทรัพย์ของผู้เข้าร่วมบวช โดยปัจจุบันนิยมจัดกัน 3-4 วัน

อย่างไรก็ดีตามความเชื่อดั้งเดิมของการจัดงานปอยส่างลองนั้น จะต้องมีพิธีต่างๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนบวชอยู่ 3 วันด้วยกัน ได้แก่

เด็ก ๆ จะต้องตื่นมาแต่งหน้า แต่งตัวกันตั้งแต่เช้ามืด
วันแรกเป็น “วันฮับส่างลอง” หรือ “วันรับส่างลอง” หรือ “วันรับส่าง” โดยตอนเย็นก่อนวันรับส่างลอง จะเป็นพิธีโกนผมส่าง ต่อจากนั้นในวันรุ่งขึ้น (วันรับส่าง) จะมีพิธีการอาบน้ำเงิน อาบน้ำทอง แต่งหน้าแต่งตัวกันตั้งแต่เช้ามืด (ตั้งแต่ตี 4-ตี5)

จากนั้นส่างลองทั้งหมดจะขึ้นขี่คอตะแปแห่ไปยังวัดเพื่อนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์และกราบคารวะขอขมาลาโทษศาลเจ้าเมือง รวมถึงต้องไปนมัสการพระผู้ใหญ่ในเมือง

นอกจากนี้ส่างลองยังต้องไปเยี่ยมเยือนบ้านญาติเพื่อขอขมาลาโทษ ส่วนบ้านใดที่ส่างลองมาเยี่ยมก็จะถือว่าเป็นโชคเป็นบุญ จึงมีการเลี้ยงต้อนรับด้วยอาหารเครื่องดื่ม รวมทั้งมีการผูกข้อมือสู่ขวัญส่างลอง

ส่วนหนึ่งของขบวนแห่ในวันแห่โคหลู่
วันที่สอง คือ “วันข่ามแขก” หรือ“วันรับแขก” หรือ “วันแห่โคหลู่” (โควหลู่,คัวหลู่) ในวันนี้จะมีพิธีสำคัญคือพิธีการแห่ขบวนโคหลู่ หรือการแห่เครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารต่าง ๆ โดยญาติพี่น้องและผู้ที่มีศรัทธาจะมาร่วมกันถือร่วมกันหามเครื่องไทยธรรมเดินนำหน้าขบวนส่างลอง

จากนั้นก็จะเป็นขบวนของส่างลอง เมื่อเข้าขบวนได้บรรดาตะแปต่างก็เดินโยกย้ายไปตามจังหวะดนตรีของกลอง ฆ้อง ฉาบ ที่บรรเลงอย่างสนุกสนาน ทำให้ส่างลองหลาย ๆ คน นึกสนุกจึงออกลีลาร่ายรำบนคอม้าส่างลองตามไปด้วย

วงดนตรี นักร่ายรำ ออกนำหน้าพาขบวนส่างลองไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ขณะที่ส่างลองบางคนก็ดูหน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความเกร็ง เมื่อม้าส่างลองโยกเขย่าตัวแรงเกินไป นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงานที่มากไปด้วยสีสัน และความสนุกสนานเพลิดเพลิน

หลังจากขบวนแห่เสร็จ ในตอนเย็นจะมีการทำพิธีผูกข้อมือเรียกขวัญรับส่างลอง และพิธี “กินผัก 12 หมี่” ซึ่งเป็นการเลี้ยงอาหารส่างลองด้วยกับข้าว 12 อย่าง (ภาษาไทใหญ่ ผัก แปลว่า กับข้าว หมี่ แปลว่า อย่าง) โดยพ่อแม่จะต้องป้อนข้าวและกับทั้ง 12 อย่างให้ครบ เริ่มจากผู้เป็นแม่ก่อน จากนั้นจึงจะเป็นพ่อ เมื่อทั้งพ่อและแม่ป้อนเสร็จแล้ว จากนั้นจึงให้ส่างลองกินข้าวเองจนอิ่ม

ส่างลองห่มจีวร พร้อมเป็นสามเณรน้อย
จากนั้นในวันที่สาม วันสุดท้ายเป็น “วันข่ามส่าง” หรือ “วันหลู่” ซึ่งเป็นพิธีอันสำคัญก็คือการ “บรรพชาเป็นสามเณร”

วันนี้บรรดาส่างลองจะเปล่งวาจาขอบรรพชากับพระอุปัชฌาย์ ก่อนจะเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มจากชุดกษัตริย์มาเป็นจีวร สร้างความปลื้มปีติให้แก่พ่อแม่ และผู้ที่เข้ามาร่วมงานได้อิ่มบุญสุขใจกันอย่างถ้วนหน้า

ปอยส่างลอง 2566


ขบวนแห่โคหลู่มาที่วัดผาบ่องเหนือ
สำหรับในปีนี้ 2566 ที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน ได้เชิญชวนผู้สนใจและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมสัมผัสกับประเพณี “ปอยส่างลอง” อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์มนต์ขลังจากพลังศรัทธาของชาวไทยใหญ่

โดยกำหนดการจัดงานประเพณีปอยส่างลองในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีดังนี้

อำเภอเมือง

-วัดแม่สะกึ๊ด 22-25 มีนาคม 2566 (วันแห่คัวหลู่ 24 มีนาคม เวลา 07.00 น.)
-วัดนาป่าแปก 26-31 มีนาคม (วันแห่คัวหลู่ 30 มีนาคม เวลา 07.00 น.)
-วัดปางล้อ 3 – 5 เมษายน (วันแห่คัวหลู่ 4 เมษายน เวลา 07.00 น.)
-วัดห้วยขาน 3 – 5 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 4 เมษายน เวลา 07.00 น.)
-วัดในสอย 22-24 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 24 เมษายน เวลา 07.00 น.)

ททท.แม่ฮ่องสอน ชวนสัมผัสเสน่ห์งานปอยส่างลองที่กลับมาจัดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งหลังโควิดคลี่คลาย
อำเภอปาย


-วัดป่าขาม 3 – 5 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 4 เมษายน เวลา 16.00 น.)
-วัดแม่นาเติงใน 5 – 7 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 6 เมษายน เวลา 16.00 น.)
-วัดม่วงสร้อย 28-30 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 29 เมษายน เวลา 16.00 น.)


อำเภอแม่สะเรียง

-วัดศรีบุญเรือง 2 – 4 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 3 เมษายน เวลา 16.00 น.)
-วัดสุพรรณรังษี 7 – 9 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 8 เมษายน เวลา 16.00 น.)

ปอยส่างลอง ประเพณีอันงดงามเป็นเอกลักษณ์คู่เมืองสามหมอก
อำเภอปางมะผ้า


-วัดแม่ละนา 20-22 มีนาคม 2566 (วันแห่คัวหลู่ 21 มีนาคม เวลา 07.00 น.)
-สำนักสงฆ์ถ้ำพญางู 25-28 มีนาคม 2566 (วันแห่คัวหลู่ 27 มีนาคม เวลา 07.00 น.)

อำเภอขุนยวม


-วัดต่อแพ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 31 มีนาคม เวลา 15.00 น.)
-วัดคำใน 1 – 4 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 3 เมษายน เวลา 15.00 น.)
อำเภอแม่ลาน้อย
-วัดดอยแก้ว 5 – 8 เมษายน 2566 (วันแห่คัวหลู่ 7 เมษายน เวลา 16.00 น.)

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0 5361 2982-3 หรือที่ Facebook : TAT Maehongson

กำหนดการจัดงานประเพณีปอยส่างลอง พ.ศ. 2566 ตามอำเภอและวัดต่าง ๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
####################################

หมายเหตุ : ข้อมูลประเพณีปอยส่างลองในบทความนี้ อ่างอิงจาก บทความ...บวชเณรน้อย “ปอยส่างลอง” เสน่ห์สีสันงานศรัทธาบุญสูงล้น ของคนไทใหญ่...

ส่วนภาพประกอบในบทความจากแฟ้มภาพงานประเพณีปอยส่างลอง “ชุมชนผาบ่อง” ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ที่จัดขึ้นในปี 2562





กำลังโหลดความคิดเห็น