xs
xsm
sm
md
lg

ประเพณี “ปอยส่างลอง” ปี 2566 งานบุญสำคัญเอกลักษณ์แห่งแม่ฮ่องสอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ: สวท.แม่ฮ่องสอน
เริ่มต้นแล้วอย่างเป็นทางการในปี 2566 สำหรับ “ปอยส่างลอง” งานบุญอัตลักษณ์แห่งเมืองแม่ฮ่องสอน


ภาพ: สวท.แม่ฮ่องสอน
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ วัดพระธาตุดอยกองมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำคณะศรัทธา ญาติโยม จัดงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี พ.ศ. 2566

งานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2566 ที่วัดพระธาตุดอยกองมู เริ่มขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม เป็นวันแรก มีพิธีปลงผมส่างลอง ปลงผมนาค โดยในปีนี้ มีการบวชจางลอง 3 องค์ ส่างลอง 4 องค์ รวม 7 องค์

พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เจริญพรว่า งานประเพณีปอยส่างลอง ของวัดพระธาตุดอยกองมู มีกำหนดการดังนี้ วันที่ 11 มีนาคม 2566 ปลงผมส่างลอง จางลอง วันที่ 12 มีนาคม 2566 วันรับส่างลอง แห่โคหลู่ และเรียกขวัญส่างลอง วันที่ 13 มีนาคม (วันนี้) พิธีบรรพชา

ภาพ: สวท.แม่ฮ่องสอน
สำหรับประเพณีปอยส่างลองนั้น คำว่า “ปอยส่างลอง” เป็นภาษาไทใหญ่ คำว่า “ปอย” หมายถึง งาน “ส่าง” เพี้ยนมาจาก สางหรือขุนสาง หมายถึง พระพรหม หรืออีกความหมายหนึ่งมาจากคำว่าเจ้าส่าง ซึ่งหมายถึงสามเณร ส่วนคำว่า “ลอง” มาจาก “อลอง” หมายถึง หน่อกษัตริย์ หรือราชบุตร

ภาพ: สวท.แม่ฮ่องสอน
จัดขึ้นเพื่อทำการบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เป็นประเพณีที่นิยมจัดขึ้นในฤดูร้อน ช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี โดยจะพบเห็นการจัดปอยส่างลองกันมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอปาย คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประเพณีนี้สืบเชื้อสายมาจากไทใหญ่ ซึ่งได้ร่วมกันสืบทอดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลาช้านาน ดังปรากฏว่าหลักฐานว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่มีการสร้างแปลงเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี เนื่องจากเป็นประเพณีที่สำคัญทางศาสนา และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ภาพ: สวท.แม่ฮ่องสอน
โดยรวมแล้ว ประเพณียังหมายถึงการบวชเณรโดยเลียนแบบพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช ดังนั้นการกระทำทุกอย่างในช่วงที่เป็นส่างลองก็จะเสมือนว่าเป็นการปฏิบัติต่อกษัตริย์ ตั้งแต่การแต่งกายที่แต่งตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณ นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อมีชายเชิงงอนปักดิ้นไหม ประดับด้วยเพชรนิลจินดาทั้งสร้อย กำไล และแหวน ศีรษะสวมชฎายอดแหลมหรือโพกด้วยผ้าแพรและประดับด้วยดอกไม้

ทั้งนี้ ชาวไทใหญ่เชื่อกันว่าการบวชส่างลองนั้นมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่กว่าการบวชพระอีกด้วย เพราะเด็กที่บวชนั้นมีจิตใจที่บริสุทธิ์

ภาพ: สวท.แม่ฮ่องสอน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น