xs
xsm
sm
md
lg

เยือนเมืองสองแคว ไหว้พระ 8 วัดสวย สุขใจ เสริมสิริมงคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พิษณุโลก” อีกหนึ่งจังหวัดที่มีที่เที่ยวแบบครบรส ทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีธรรมชาติอันงดงาม และวัดวาอาราม ที่ไม่ใช่แค่มาแวะพัก แต่ต้องหาเวลามาเที่ยว มาสัมผัสมนต์เสน่ห์ของที่นี่กันสักครั้ง วันนี้ขอพาสายบุญที่ชอบเข้าวัดไหว้พระ มาปักหมุดกับ 8 วัดสวยน่าเที่ยวของเมืองสองแควที่ห้ามพลาด!


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

เริ่มกันที่วัดคู่บ้านคู่เมืองที่ถ้าใครไม่ได้มาสักการะ จะหาว่ามาไม่ถึงพิษณุโลก นั่นก็คือ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร” หรือที่คนพิษณุโลกเรียกกันว่า “วัดใหญ่” ที่นี่เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพุทธศิลป์ชั้นสูงสุดของเมืองไทย และเมื่อใครมาถึงที่วัดใหญ่แห่งนี้ก็มักจะตรงเข้าไปสักการะพระพุทธชินราชก่อนเป็นอันดับแรก

“พระพุทธชินราช” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยทองสำริด เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ส่วนซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักอย่างงดงาม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งด้วยพุทธลักษณะอันงดงามโดดเด่น พระพุทธชินราชจึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประติมากรรมพุทธศิลป์ชั้นสูงสุดของเมืองไทย


นอกจากนี้วัดใหญ่ยังเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณสถานสำคัญเพียงชิ้นเดียวที่ยังคงเหลือรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเก่าแก่ของวัด บริเวณฐานชุกชีมี “พระอัฏฐารส” ประทับยืนประทานพร สูง 18 ศอก หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงมาข้างพระกาย เบื้องพระปฤษฎางค์ก่อผนังปูนหนา มีเสาไม้ค้ำยันไว้ 2 ต้น สันนิษฐานว่าของเดิมทำขึ้นเพอเป็นบันไดสำหรับขึ้นไปสูงจนถึงพระศอ


วัดนางพญา

ถัดไปที่ “วัดนางพญา” ตั้งอยู่ถนนจ่าการบุญ ในเมือง เมืองพิษณุโลก เป็นวัดสำคัญที่บรรดาเกจิพระเครื่องรู้จักกันดี เพราะมีสุดยอดพระเป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคี ที่เรียกกันว่า "พระนางพญา" ที่มีการพบกรุพระเครื่องครั้งแรกในปี พ.ศ. 2444 และในปี พ.ศ. 2497 โดยพระนางพญานั้นเป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และมีชื่อเสียงในด้านเมตตามหานิยม โดยเฉพาะสำหรับสุภาพสตรีที่เป็นนักปกครองและหัวหน้างานที่ต้องดูแลลูกน้องจำนวนมาก ทั้งนี้ มีความเชื่อกันว่าหากผู้ใดมีพระนางพญาไว้ในครอบครัง จะทำให้ผู้ใต้ปกครองนั้นรู้สึกยำเกรงประดุจนางพญา


วัดราชบูรณะ

ใกล้ๆ กันจะเป็น “วัดราชบูรณะ” วัดเก่าแก่ในจังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยก่อนรัชสมัยพระยาลิไท ภายในวัดมีพระวิหารหลวงซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ภายในพระวิหารประดิษฐานหลวงพ่อทองดำ พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย มีเจดีย์หลวงซึ่งเป็นเจดีย์ทรงลังกาตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน สูง 24 เมตร และเจดีย์แห่งนี้ยังเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย ภายในวัดยังมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุสำคัญให้เข้าไปเยี่ยมชมอีกมากมาย




วัดจันทร์ตะวันตก

“วัดจันทร์ตะวันตก” ตั้งอยู่บริเวณสะพานสุพรรณกัลยา อำเภอเมืองพิษณุโลก ตรงข้ามกับ วัดจันทร์ตะวันออก โดยมีแม่น้ำน่านขั้นตรงกลาง เป็นวันเก่าแก่ที่มีสถาปัตยกรรมอันวิจิตงดงาม โดดเด่นด้วย มหาวิหารสมเด็จองค์ปฐม สีทองอร่าม และ หลวงพ่อทองไหลมา พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรประทับยืนขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า


วัดจันทร์ตะวันออก

“วัดจันทร์ตะวันออก” ตั้งอยู่บริเวณสะพานสุพรรณกัลยา อยู่ตรงข้ามกับวัดจันทร์ตะวันตก วัดจันทร์ตะวันออก สร้างขึ้น พ.ศ. 2276 เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ ริมแม่น้ำน่านจึงได้ถูกน้ำเซาะตลิ่งพัง ทางวัดได้ย้ายสถานที่สร้างเสนาสนะมาแล้วถึง 3 ครั้ง ถึงแม้จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ก็เป็นจุดที่เชื่อว่าพระยาจักรี ( สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑) เคยยกทัพและมาหยุดพักที่วัดจันทน์ตะวันออก

สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ วัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระประธานในอุโบสถ ขนาดพระเพลากว้าง 2 ศอกคืบ เนื้อทองเหลือง พระประจำวัน 7 องค์ และพระประธานขนาดพระเพลากว้าง 1 ศอกคืบ ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญ รวมถึงศาลพระสุพรรณกัลยาที่มีประชาชนเดินทางมากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย


วัดจุฬามณี

“วัดจุฬามณี” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ตามถนนบรมไตรโลก-นารถ ระยะทาง 5 กิโลเมตร โบราณสถานเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่ามีมาก่อนสมัยสุโขทัย และยังเป็นที่ตั้งของเมืองสองแควโบราณก่อนจะมาเป็นเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างพระวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพารออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป

บริเวณโดยรอบของวัดนี้มี “กำแพงแก้ว” ขนาดกว้าง 49 เมตรยาว 113 เมตร สูง 1.6 เมตร ก่อด้วยอิฐสร้างล้อมศาสนสถานทั้งหมด โดยภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญน่าชม คือ “ปรางค์ประธาน” ตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลาง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก


หากใครที่มาเยือนวัดแห่งนี้แล้วจะต้องไม่พลาดมากราบไหว้ขอพร “หลวงพ่อเพชร” เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางขัดสมาธิเพชรบนฐานรองรับองค์ เดิมสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งศรีสัชนาลัย ทรงผนวช ณ วัดจุฬามณีแห่งนี้ และเป็นผู้สร้างหลวงพ่อเพชรไว้ ต่อมาหลวงพ่อเพชรได้ชำรุด อดีตเจ้าอาวาสจึงนำปูนมาพอกไว้ หลังจากปูนหลุดกะเทาะออกมาจึงเห็นว่าพระพักตร์ชำรุด พระกรหัก ประชาชนจึงช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์องค์หลวงพ่อขึ้นมาใหม่ ทำให้พุทธลักษณะของหลวงพ่อเพชรคล้ายศิลปะเชียงแสน และได้มีการนำเพชรมาประดับที่พระเนตรและเม็ดพระศก ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อเพชร” แต่เพชรได้ถูกขโมยไปปัจจุบันประชาชนจึงได้ช่วยกันอนุรักษ์องค์หลวงพ่อไว้ดังที่เห็นในปัจจุบัน


วัดอรัญญิก

“วัดอรัญญิก” เป็นวัดโบราณสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่อำเภอเมืองพิษณุโลก บริเวณนอกกำแพงเมือง ประมาณ 1 กิโลเมตร ตามความนิยมในสมัยสุโขทัยที่สร้างวัดในป่าและ ให้ชื่อว่า “อรัญญิก”


ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัด เจดีย์องค์ประธานเป็นทรงลังกา ฐานกลม องค์ระฆังเหลือครึ่งซีกจนถึง บัลลังก์ พบร่องรอยการบูรณะจึงมีรูปแบบผสมผสาน พบซากอุโบสถ ซากใบเสมาหินศิลปสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน สุโขทัย และอยุธยา มีคูน้ำล้อมเนินดิน


วัดเจดีย์ยอดทอง

“วัดเจดีย์ยอดทอง” สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19–20 โดยมีหลักฐานสำคัญ คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม เป็นเจดีย์สุโขทัยองค์เดียวที่พบในพิษณุโลก สันนิษฐานว่า สร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) คราวเสด็จมาครองเมืองพิษณุโลกและได้มีการบูรณะกันต่อมาตลอดสมัยสุโขทัยสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์


เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีฐานกว้างประมาณ 9 เมตร สูง 21 เมตร เฉพาะที่ยอดทรงดอกบัวตูมนั้น ได้เห็นรอยกะเทาะของปูนทำให้แลเห็นการเสริมยอดโดยการพอกปูนเพิ่มที่ยอดแหลมของดอกบัว มีแนวกำแพงล้อมรอบขนาดกว้าง 14.50 เมตร ยาว 14.50 เมตร ฐานกำแพงกว้าง 50 ซม. ก่ออิฐถือปูน มีทางเข้าทางทิศเหนือและทิศใต้ ขนาดกว้าง 1 เมตร ปรากฏซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ ซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน ส่วนพระเศียร พระวรกายและพระกรหักหายไป

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel  MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น