xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนที่มาชื่อ “Bangkok-กรุงเทพฯ” ล้วนต่างเกี่ยวกับน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ย้อนที่มาชื่อ “Bangkok-กรุงเทพฯ” ล้วนต่างเกี่ยวกับน้ำ
หลังมีข่าว ครม.เห็นชอบการแก้ไขชื่อภาษาอังกฤษของเมืองหลวง “กรุงเทพมหานคร” ตามที่ราชบัณฑิตยสภาเสนอ จาก “Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)” ก็เกิดดราม่า จนกลายเป็นอีกหนึ่งทอล์คออฟเดอะทาวน์อันโด่งดังในโลกโซเชียล

สำหรับเรื่องนี้ อันที่จริงทางราชบัณฑิตยสภาฯ ได้มีประกาศแก้ไขชื่อภาษาอังกฤษของกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยกำหนดมาตรฐานชื่อในการทับศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับชื่อไทย และเก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ ซึ่งเราสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ทั้ง 2 ชื่อ Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok

อย่างไรก็ดีเนื่องจากมีสื่อหลายสำนักได้พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงและมีการแชร์กันไปเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้จึงกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ที่ รัฐบาลและทางราชบัณฑิตย์ โดนทัวร์ลงถล่มไปตามระเบียบ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาเรื่องการสื่อสารที่ล้มเหลวของรัฐบาลลุงตู่อีกครั้งหนึ่ง

ชื่อกรุงเทพมหานครภาษาอังกฤษ สามารถเขียนได้ 2 แบบ คือ Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok
นอกจากนี้หลาย ๆ คน ยังทำการสืบค้นที่มาของทั้งชื่อ “กรุงเทพมหานคร” และ “Bangkok” หรือ “บางกอก” มาโพสต์บอกกล่าวกันในโลกโซเชียล เพื่อย้อนรอยประวัติศาสตร์และรำลึกถึงอดีตกัน (เรื่องนี้มีประโยชน์กว่าการหน้ามืดตามัวด่าตามกระแสแบบไม่รู้สี่รู้แปดเป็นอย่างยิ่ง)

ด้วยเหตุนี้เราจึงขอนำข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่งของชื่อ “กรุงเทพมหานคร” และ “Bangkok” หรือ “บางกอก” ที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องของน้ำ มานำเสนอกัน เนื่องจากกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นทางผ่านสำคัญของ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ก่อนที่จะไหลออกไปสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งบรรพบุรุษของเรานั้นได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับน้ำอย่างเป็นมิตร

แม้กระทั่งที่มาของชื่อเมืองหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่น่าคิดในอีกแง่มุมหนึ่งว่า ชื่อของเมืองนี้ตั้งแต่ยุคบางกอกมาจนถึงกรุงเทพมหานครนั้น มีความเกี่ยวข้อง มีความผูกพัน และมีที่มาจากน้ำที่น่าสนใจยิ่ง

บางกอก เมืองแห่งน้ำ


วิถีคนกรุงเทพฯ ที่ผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยา นับจากอดีตถึงปัจจุบัน
“บางกอก” หรือ ที่ฝรั่งยังคงเรียกติดปากว่า “แบ็งคอก” หรือที่เขียนภาษาอังกฤษว่า “Bangkok” มาจนถึงทุกวันนี้ เป็นตำบลเก่าแก่ที่มีชุมชนใหญ่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

สำหรับที่มาของชื่อเมืองบางกอกนั้น มีข้อสันนิษฐานน่าสนใจอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน

ข้อสันนิษฐานแรกมาจากความเชื่อที่ว่าแต่เดิมบริเวณนี้เป็นป่ามะกอก จึงเรียกว่าบางกอก โดยบาง หมายถึงหมู่บ้าน ส่วนกอกก็คือ มะกอก

ข้อสันนิษฐานที่สองมีบันทึกไว้ในหนังสือ “จดหมายเหตุรายวันของบาทหลวง เดอ ชวาสี” แปลและเรียบเรียงโดย หลวงสันธานวิยาสิทธิ์(กำจาย พลางกูร) ได้ระบุว่า “บางกอกคือจังหวัดธนบุรี บาง แปลว่า บึง กอก แปลว่า น้ำ(กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับเป็นดินหรือที่ลุ่มเป็นที่ดอน” ซึ่งจากข้อสันนิษฐานนี้อาจเป็นไปได้ว่า บางกอกจากเดิมที่เป็นที่ลุ่มได้มีการสะสมตะกอนมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นที่ดอนขึ้นมาก็เป็นได้

บ้านเรือนริมน้ำของชาวกรุงฯ
ข้อสันนิษฐานต่อมาในหนังสือ“เล่าเรื่องบางกอก” โดย ส.พลายน้อย(เล่ม 1) ให้ข้อมูลว่า ผู้รู้บางคนกล่าวว่าบางกอกน่าจะมาจากคำว่า Benkok เป็นภาษามลายู แปลตามตัวว่า คดโค้ง หรือ งอ โดยอ้างว่าแม่น้ำในบางกอกสมัยก่อนคดโค้งอ้อมมาก

ส่วนข้อสันนิษฐานลำดับสุดท้าย ก็ยังคงอ้างอิงจากหนังสือเล่าเรื่องบางกอกเช่นเดิม ซึ่งท่าน อาจารย์ ส.พลายน้อย ให้ข้อมูลว่า มีนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง(ส.พลายน้อย ไม่ได้ระบุชื่อไว้) ให้ข้อคิดว่า...คำ Bangkok นั้น ฝรั่งแต่โบราณเขียนเป็น Bangkoh ซึ่งมีทางว่าน่าจะอ่านว่า “บางเกาะ”...และคำ ๆ นี้ก็มีการออกชื่อปรากฏอยู่ในจดหมายของท้าวเทพสตรีที่มีไปถึงกัปตันไลน์หรือพระยาราชกัปตันด้วย แต่เสียดายที่มีชื่อปรากฏเป็นหลักฐานอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ชื่อนี้สอดคล้องกับชื่อบางเกาะที่เชื่อว่าตั้งชื่อเมืองตามสภาพภูมิประเทศของลำน้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ลดเลี้ยวเคี้ยวโค้ง จนสภาพพื้นที่บางแห่งมีลักษณะเป็นเกาะ ซึ่งสันนิษฐานว่าชื่อบางเกาะคงจะเพี้ยนเป็น “บางกอก” ในภายหลัง

และนั่นก็เป็นที่มาของชื่อเมืองบางกอกที่ต่อมากลายเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้ข้อสันนิษฐานแรกจะได้รับการยอมรับมากสุด แต่ 3 ข้อสันนิษฐานหลังก็มีเหตุผลน่ารับฟัง มีหลักฐานอ้างอิง สอดคล้องกับการเป็นเมืองแห่งน้ำของบางกอกอยู่ไม่น้อย

คลองบางกอกใหญ่
อย่างไรก็ดีเมืองบางกอกเดิมมีลักษณะเป็นแผ่นดินผืนแผ่นเดียวติดกัน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา(สายเดิม)ที่ไหลลดคดเคี้ยวเลาะคู่เมืองนี้ไป เริ่มตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย อ้อมไปตลิ่งชัน บางระมาด แล้วเลี้ยวมาคลองบางกอกใหญ่(คลองบางหลวง) ก่อนวกมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองบางกอกใหญ่แล้วไหลไปออกทะเลดังในเส้นทางน้ำปัจจุบัน

แต่ในปี พ.ศ.2065 สมเด็จพระไชยราชาธิราช โปรดฯให้ขุดคลองลัดบางกอกขึ้นเป็นครั้งแรก เชื่อมลำน้ำเจ้าพระยาระหว่างปากคลองบางกอกน้อยกับปากคลองบางกอกใหญ่ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาดังในปัจจุบัน

และมีการขุดคลองลัดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 2 ครั้ง ในช่วงเวลาต่อมา ได้แก่ การขุดคลองลัดบางกรวย เชื่อมคลองบางกอกน้อย-คลองบางกรวย ในปี พ.ศ. 2081 สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และการขุดคลองลัดนนทบุรี เชื่อมคลองบางกรวย-คลองอ้อมนนท์ ในปี พ.ศ. 2139 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักเหมือนกับการขุดคลองลัดในครั้งแรก

เคาต์ดาวน์ริมโค้งน้ำเจ้าพระยา อีกหนึ่งภาพจำของกรุงเทพฯยุคปัจจุบัน
สำหรับการขุดคลองลัดบางกอกนั้น สายน้ำได้แบ่งเมืองบางกอกออกเป็น 2 ฝั่ง คือ บางกอกฝั่งขวา(อ้างอิงตามทิศเหนือ)ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา(สายใหม่) ปัจจุบันคือกรุงเทพมหานครเป็นที่ราบลุ่มริมเจ้าพระยาเหมาะสำหรับการทำนา และบางกอกฝั่งซ้ายที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่สวนอันอุดมสมบูรณ์เคียงคู่กับสวนบางช้าง ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน”

ทั้งนี้หลังการขุดคลองลัดได้ปรากฏว่ามีการตั้งอยู่เมืองบางกอกอย่างเป็นทางการว่า “เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร” ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเมืองนี้กับทะเลได้เป็นอย่างดี

กรุงเทพฯ นครแห่งน้ำ


ในปี พ.ศ.2310 พระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี และทรงโปรดฯให้ตั้งเมืองบางกอกฝั่งซ้ายเป็นเมืองหลวง โดยมีการสร้างกำแพงเมืองขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู ขณะเดียวกันความเจริญของเมืองหลวงก็ทำให้มีการขยายเมืองไปเติบโตหนาแน่นที่เมืองบางกอกฝั่งขวา

พระปรางค์วัดอรุณอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ทรงมีพระราชดำริว่า “เมืองธนบุรีนี้ ฝั่งฟากตะวันออกเป็นที่ชัยภูมิดีกว่าที่ฟากตะวันตก โดยเป็นที่แหลม มีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง ถ้าตั้งพระนครข้างฝั่งตะวันออก แม้นข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนครก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ดอน แต่ก็เป็นคุ้งน้ำเซาะทรุดพังอยู่เสมอไม่ถาวร พระราชมมณเฑียรสถานเล่าก็ตั้งอยู่ในอุปจาร ระหว่างวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดขนาบอยู่สองข้าง ควรเป็นที่รังเกียจ”

หลังจากนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯก็สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พร้อมกับตั้งเมืองหลวงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 2325 โดยพระราชทานนามเมืองหลวงใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ก่อนที่จะมีการแปลงสร้อยบวรรัตนโกสินทร์ เป็น“อมรรัตนโกสินทร์” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า รัชกาลที่ 4

กรุงเทพฯ มุมสูงในย่านธุรกิจเมื่อมองจาก มหานคร สกายวอล์ค
กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการ ได้รับการบันทึกจากกินเนสบุ๊คว่าเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก

ขณะที่คำขวัญของกรุงเทพมหานคร ที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2555 มีดังนี้ “กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย”

อย่างไรก็ดีชื่อเมืองกรุงเทพมหานครนี้ ในหนังสือ “น้ำบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย” โดย : (ดร.)สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ได้ให้ข้อมูลถึงความหมายของชื่อกรุงเทพมหานครที่น่าสนใจเอาไว้ว่า

...ใน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาเมืองฝั่งซ้ายเป็นราชธานี ซึ่งเหมือนกับพระเจ้าอู่ทองย้ายข้ามฟากเข้าไปอยู่ในโค้งแม่น้ำเพื่อตั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า...

...ในลักษณะการสร้างพระนครในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะจำลองความรุ่งเรืองของกรุงเก่ามาไว้ ณ ที่ใหม่ ในประเด็นนี้ชื่อเมืองก็ระบุให้เห็นถึงความพยายามที่จะ “ย้าย” กรุงศรีอยุธยามาไว้ในโค้งแม่น้ำใหม่นี้ ชื่อ “กรุงเทพมหานคร” มีความหมายว่า “มหานครแห่งเทพเจ้าซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำ(กรุง)”...

กรุงเทพฯยุคปัจจุบัน การเดินทางทางถนนและราง เข้ามาแทนที่การสัญจรทางน้ำของเมื่อครั้งอดีต
อนึ่งในหนังสือน้ำฯเล่มดังกล่าว ได้มีข้อมูลที่ปรากฏก่อนหน้านี้ซึ่งช่วยขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า

...คำว่า “กรุง” นั้นมาจากคำว่า “เกริง”(เสียงสั้น) เป็นคำภาษามอญซึ่งหมายถึงแม่น้ำลำคลอง สมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระราชวินิจฉัยดังนี้ “ผู้ใดว่ามีอำนาจเหนือพื้นน้ำหรือเป็นเจ้าแห่งน้ำตั้งแต่ปากน้ำไปจนถึงที่สุดของแม่น้ำสายนั้น ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นเจ้ากรุง และเมืองที่เจ้ากรุงพระองค์นั้นประทับอยู่ก็เลยเรียกว่า กรุง”...

ขณะที่คำว่า “เกริง”(เสียงยาว) ในหนังสือน้ำฯได้ให้ข้อมูลว่า เป็นภาษามอญ หมายความว่าใหญ่ ส่วนอีกคำหนึ่งที่สำคัญก็คือคำว่า “นคร”นั้นมีความหมายว่าชาวเมือง และมีรากศัพท์มาจาก “นาคา” ที่หมายถึงนาค ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงแล้วตามความเชื่อนี้ได้มีเหตุผลสนับสนุนชื่อเมือง“กรุงเทพมหานคร” ที่มีความหมายถึง “มหานครแห่งเทพเจ้าซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำ” ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

คลองโอ่งอ่างปัจจุบัน อีกหนึ่งโครงการฟื้นมนต์เสน่ห์แห่งแม่น้ำลำคลองในกทม. (ภาพจาก : เพจเอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง)
และนั่นก็เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ตามความเชื่อทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของชื่อเมืองหลวงในยุคปัจจุบันของเรา ตั้งแต่บางกอกมาจนถึงกรุงเทพมหานครว่า ล้วนต่างมีที่มาจากน้ำ

ขณะเดียวกันความเป็นเมืองแห่งน้ำของบางกอกหรือกรุงเทพมหานครที่อุดมไปด้วยวิถีชาวน้ำและแม่น้ำลำคลองมากมาย ก็ถูกตอกย้ำด้วยชื่อ“เวนิสตะวันออก” ที่ฝรั่งต่างชาติขนานนามจนโด่งดังไปทั่วโลก ก่อนที่ต่อมาในยุคปัจจุบัน ความเป็น (ชื่อ) เมืองแห่งน้ำทั้งบางกอก กรุงเทพมหานคร และเวนิสตะวันออก ได้ถูกทำลายและเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีโลกร่วมสมัย

อีกหนึ่งวิถีชาวกรุงเทพฯยุคนี้ที่ผูกพันกับสาย (ละออง) น้ำในการบรรเทาหมอกควัน
ดังนั้นวันนี้การพยายามรื้อฟื้นมนต์เสน่ห์ของเมืองแห่งสายน้ำลำคลองที่สวยงามในอดีตของหลายภาคส่วน จึงนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าติดตามยิ่ง

ขณะที่คนปกติธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ การไม่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย ลงในแม่น้ำลำคลอง ก็ถือเป็นการร่วมด้วยช่วยกันในการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองได้อีกทางหนึ่ง


ชื่อกรุงเทพมหานครภาษาอังกฤษ สามารถเขียนได้ 2 แบบ คือ Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok


กำลังโหลดความคิดเห็น