มรดกโลก “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นอีกหนึ่งผืนป่าใต้พระบารมี “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” เกิดจากพระวิสัยทัศน์อันยาวไกล ซึ่งมีพระราชดำริให้อนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำแห่งนี้ไว้ อันนำไปสู่การจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ก่อนที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกอันทรงคุณค่าแห่งใหม่ของไทย
กำเนิด อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
“เรื่องป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้ เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) เมื่อครั้ง เสด็จพระราชดำเนินเขื่อนแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2522
จากพระราชดำรัสดังกล่าว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ “กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้” (สมัยนั้นยังไม่มีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช) จึงได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแม่น้ำเพชรบุรีเหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แล้วดำเนินการจัดตั้งเป็น “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” ขึ้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524
แก่งกระจาน มหัศจรรย์แห่งผืนป่า
อช.แก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 28 ของประเทศ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทย ราว 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.8 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
อช.แก่งกระจาน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาซับซ้อนในเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นป่าเขตแดนระหว่างประเทศไทยและพม่า มีจุดสูงสุดคือ “ยอดเขางะงันนิยวกตอง” ที่มีความสูง 1,513 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่กลางป่าลึกบริเวณแนวชายแดน
ผืนป่าแก่งกระจานมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก เป็นป่าต้นน้ำแหล่งกำเนิดแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี รวมถึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยหรือ “บ้านของสัตว์ป่า” นานาชนิดอันชุกชุม (ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้เป็นมรดกโลก)
นอกจากนี้ป่าแก่งกระจานยังเป็นแหล่งดูนกชั้นเยี่ยมอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย (บางคนยกให้เป็นอันดับหนึ่ง) ที่นี่มีนกอาศัยอยู่มากกว่า 500 ชนิด จนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งการดูนก” ของเมืองไทย โดยพบนกเงือกดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าถึง 6 ชนิด (จากนกเงือก 13 ชนิดที่พบในเมืองไทย)
ขณะที่นกหายากชนิดอื่น ๆ ที่พบในอุทยานฯแห่งนี้ก็อย่างเช่น นกขมิ้นขาว นกเปล้าท้องขาว นกพญาปากกว้างท้องแดง นกจาบคาหัวสีส้ม นกจาบคาเคราแดง นกแว่นสีเทา นกกระแตหาด เป็นต้น
รวมถึงเป็นถิ่นอยู่อาศัยของนกสุดหายากชนิดหนึ่งในโลกอย่าง “นกกะลิงเขียดหางหนาม” ที่ในเมืองไทยพบได้เพียงแห่งเดียวคือที่ อช.แก่งกระจานแห่งนี้ ซึ่งทางอุทยานฯ ได้สร้างรูปปั้นนกกะลิงเขียดหางหนามและนกเงือก เกาะอยู่คู่กันบนป้ายอุทยานเพื่อเป็นดังนกสัญลักษณ์ของผืนป่าแก่งกระจานแห่งนี้
นอกจากจะเป็นแหล่งดูนกชั้นเยี่ยมแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งดูผีเสื้อชั้นดี ที่มีผีเสื้อมากกว่า 250 ชนิด ซึ่งในช่วงหน้าแล้ง เดือน มี.ค.-มิ.ย. จะพบเจอผีเสื้อมากที่สุด
เหล่าผีเสื้อปีกสวยพวกนี้ไม่เพียงมาตอมดอกไม้ดูดน้ำหวานเท่านั้น แต่ยังออกมาหากิน เกลือแร่และแร่ธาตุต่างๆ ตามดินโป่งที่พื้นดิน ตามซากสัตว์ ซากผลไม้ รวมไปถึงมูลสัตว์ด้วย และจะมีมากโดยเฉพาะตามริมลำธารที่ชื้นแฉะ
สำหรับผีเสื้อที่สามารถพบเจอได้ง่ายก็อย่างเช่น ผีเสื้อเณร ผีเสื้อหางติ่งปารีส ผีเสื้อหางดาบลายขีด ผีเสื้อ และผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่ เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถพบผีเสื้อได้ทั่วไปตามชายป่า ริมสายน้ำลำธาร ตามริมหุบห้วยที่มีความชุ่มชื้น และที่ “แคมป์บ้านกร่าง” ซึ่งเป็นไฮไลท์จุดชมผีเสื้อแห่งแก่งกระจาน ที่นี่มีโป่งผีเสื้อ และจุดย่อย ๆ ให้ชมผีเสื้อกันอย่างหลากหลาย
เที่ยว อช.แก่งกระจาน
นอกจากจะเป็นบ้านของสัตว์อันชุกชุม สามารถเที่ยวดูนก ผีเสื้อ และถ้าโชคดีก็จะเจอสัตว์อื่น ๆ ได้หลากหลายแล้ว อช.แก่งกระจาน ยังเป็นปอดธรรมชาติป่าใหญ่ใกล้กรุงฯ ที่นอกจากจะอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย
อุทยานฯแห่งนี้ มีน้ำตกกระจายอยู่เกือบ 10 แห่งทั้งในจุดที่เดินเข้าถึงไม่ยากและในป่าลึก อาทิ น้ำตกแม่กระดังลา น้ำตกชลนาฏ น้ำตกผาน้ำหยด น้ำตกธารทิพย์ และ 2 น้ำตกไฮไลท์ ได้แก่
-“น้ำตกทอทิพย์” (อ.แก่งกระจาน) ที่มีทั้งหมด 9 ชั้น ไหลลดหลั่นกันลงมาจากหน้าผาหิน นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าจากจุดชมทะเลหมอก กม.36 ไปประมาณ 5 กม.
-“น้ำตกป่าละอู” (อ.หัวหิน) เป็นน้ำตกขึ้นชื่อของหัวหินประกอบด้วยน้ำตกป่าละอูใหญ่และ น้ำตกป่าละอูน้อย มีทั้งหมด 15 ชั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินป่าเข้าไปเที่ยวชมเองได้ถึงชั้น 7 (ส่วนชั้นที่เหลืออยู่ในป่าลึกเข้าถึงลำบาก ต้องมี จนท.นำทางเข้าไป)
อช.แก่งกระจานยังมีไฮไลท์คือ “เขาพะเนินทุ่ง” ขุนเขาที่มี “ยอดเขาพะเนินทุ่ง” ที่มีความสูง 1,207 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นจุดสูงสุดอันดับสองของผืนป่าแก่งกระจานแห่งนี้
เขาพะเนินทุ่ง มีสภาพแวดล้อมเป็นขุนเขาสลับซับซ้อน มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีคล้ายขุนเขาทางภาคเหนือของบ้านเรา ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นจุดชมทะเลหมอกใกล้กรุงฯ ที่สวยที่สุด
เขาพะเนินทุ่งมีจุดชมทะเลหมอกที่เป็นไฮไลท์สวยงามอยู่ 2 จุดด้วยกัน ได้แก่
-“จุดชมวิวเขาพะเนินทุ่ง” ที่ทางอุทยานฯ ได้ทำลานกว้างสำหรับชมวิว พร้อมป้าย เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปคู่กับทะเลหมอกที่จะเห็นลอยอยู่ในแอ่งหุบเขาเบื้องล่าง
-“จุดชมวิว กม. 36” เป็นจุดชมวิวต้องห้ามพลาด แห่งผืนป่าแก่งกระจาน ตั้งอยู่ห่างจากพะเนินไปทุ่งไปประมาณ 6 กม. ที่นี่นอกจากจะได้ชมทะเลหมอกลอยอ้อยอิ่งอย่างสวยงามกว่างไกลแบบพาโนรามาแล้ว ยังสามารถเห็นหมอกได้อย่างใกล้ชิดท่ามกลางองค์ประกอบของธรรมชาติที่สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ
นอกจากนี้ อช.แก่งกระจานยังมีอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ “อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน” ที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดี มีลานกางเต็นท์กว้างขวาง ให้กางใกล้ทะเลสาบในบรรยากาศสุดฟิน กลางคืนนอนดูดาว ตอนเช้าตรู่ขึ้นไปชมทะเลหมอกบนเขาพะเนินทุ่งแบบครบเครื่องเรื่อง “นอนเต็นท์ริมน้ำ กลางคืนดูดาว เช้าดูทะเลหมอก”
มรดกโลก “กลุ่มป่าแก่งกระจาน”
อช.แก่งกระจาน เป็นอุทยานที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดแห่ง “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” มรดกโลกแห่งใหม่ ลำดับที่ 6 ของไทย
กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย อช.แก่งกระจาน อช.กุยบุรี อช.เฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้เป็นมรดกโลกก็คือ หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 (X) ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากป่าแห่งนี้เป็นถิ่นอาศัยทางธรรมชาติในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์ โดยมีชนิดพันธุ์สำคัญที่ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (หลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นมรดกโลก มี 10 ข้อ ข้อที่1-6 เป็นหลักเกณฑ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ข้อที่ 7-10 เป็นหลักเกณฑ์แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ)
กลุ่มป่าแก่งกระจานได้ชื่อว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่า ซึ่งสำรวจพบสัตว์ป่ามากถึง 459 ชนิด โดยมีสัตว์ป่าที่อยู่ในขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ จระเข้น้ำจืด ลิ่นชวา เต่าเหลือง และ เต่าหก
นับได้ว่ามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ปัจจุบันมีคุณค่าในระดับโลก
ทั้งนี้เมื่อย้อนไปในอดีต จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน เกิดจากพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ที่มีพระราชดำริให้อนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำแห่งนี้ไว้ อันนำไปสู่การจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพัฒนายกระดับสู่ “มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน” ผืนป่าอันทรงคุณค่าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline