กลายเป็นข่าวดีรับวันคล้ายวันสถาปนา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ครบรอบ 19 ปี (2 ต.ค.2564) เมื่อ อช.บูโด ฯ ร่วมแสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับลูกนกเงือกหัวหงอก (นกเงือก 1 ใน 13 ชนิด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง) สู่โลกกว้างอย่างปลอดภัย
ก่อนหน้านี้ (ช่วงวันที่ 21,22 และ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา) ที่หน้าโพรงรังแห่งเดียวกันนี้ ทางอุทยานแห่งชาติบูโด-สุโหงปาดี เคยโพสต์ให้เห็นพฤติกรรมของครอบครัวนกในขณะที่พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูกที่อยู่ในโพรงรังกับแม่ โดยเห็นภาพพ่อนกและญาติของนกเงือกหัวหงอก คอยทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารให้ถึงโพรงรัง
เวลาผ่านมาราว 1 เดือน เมื่อวานนี้ (2 ตุลาคม 2564) อุทยานแห่งชาติบูโด-สุโหงปาดี จ.นราธิวาส ได้โพสต์ภาพลูกนกเงือกหัวหงอก ออกมาเกาะอยู่หน้าโพรงรัง หลังเจ้าหน้าที่ได้ติดตามพฤติกรรมและดูแลความปลอดภัยมาตั้งแต่พบโพรงรัง โดยใช้กล้องดักถ่าย (Camera Trap)
“ลูกนกเงือกหัวหงอกได้ออกมาจากโพรงแล้วครับ เมื่อวันที่ 23 กันยายน เวลา 08.59 น. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเรื่องราวที่น่ายินดียิ่ง สำหรับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์นกเงือกในผืนป่า เบื้องต้นพบว่าลูกนกเงือกหัวหงอกมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะเติบโต และใช้ชีวิตอย่างอิสระในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มเติบโต พ่อแม่ของนก รวมถึงญาติมิตรของลูกนกจะคอยดูแลจนสามารถบินและหาอาหารใช้ชีวิตได้เอง”
สำหรับ นกเงือกหัวหงอก เป็น 1 ใน 13 ชนิดของนกเงือกที่พบว่าอาศัยอยู่ในผืนป่าของประเทศไทย เป็นนกเงือกที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ยาวนาน โดยจากการวิเคราะห์ทางดีเอ็นเอพบว่าเก่าแก่ถึง 47 ล้านปีก่อน ในปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อยู่ในบัญชี 2 ไซเตส และเป็นนกประจำถิ่นของไทย
เมื่อเติบโตเต็มวัย มีขนที่มีหัวสีขาวฟูคล้ายหงอน เวลาบินจะเห็นหางสีขาวชัดเจน ขนหางมีความสั้นยาวไล่จากด้านนอกเข้าหาเส้นกลางซึ่่งยาวที่สุด ขนปีกสีดำมีปลายปีสีขาว ปากและโหนกขนาดเล็กมีสีดำ ตัวผู้มีคอและท้องสีขาว ตัวเมียมีขนส่วนนี้สีดำ ตัววัยรุ่นมีขนตามตัวขาวประดำ โคนหางดำปลายหางขาว ขนปลายปีกขาว
วิถีดำรงชีวิตของนกเงือกหัวหงอก มักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก 4-7 ตัว บางครั้งมากถึง 20 ตัว ส่งเสียงร้อง อุ๊…อุ๋ ชอบอยู่ในป่าต่ำจนถึงป่าดงดิบ ส่วนใหญ่จะพบที่ระดับความสูง 120-820 เมตรจากระดับน้ำทะเล หากินบริเวณใต้เรือนยอดของต้นไม้ หรือที่ระดับผิวดินเล็กน้อย และเป็นนกที่บินเงียบมาก
ทั้งนี้ การได้เห็นพฤติกรรมนกเงือกหัวหงอก สามารถกระจายพันธุ์อยู่ในป่าแห่งนี้ได้ สะท้อนให้เห็นด้วยว่า สภาพป่าแห่งนี้มีความสมบูรณ์เพียงพอ เพราะวิถีชีวิตของนกเงือกเองมีบทบาทต่อการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืช และควบคุมสัตว์เล็กที่จะทำลายเมล็ดไม้ นั่นทำให้นกเงือก เป็นนกที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศป่า จนถูกขนานนามว่าเป็น “นกปลูกป่า”
ในคลิป หน้าโพรงรังเดียวกัน ตอนนั้นจะเห็นนกตัวเงือกหัวหงอกตัวผู้ 2 ตัวมาอยู่ที่โพรงรัง นั่นเพราะพฤติกรรมการเลี้ยงลูกเป็นแบบมีผู้ช่วย หรือญาติมาช่วยเลี้ยงโดยผู้ช่วยก็มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ภาพตอนที่บันทึก (สิงหาคม) ใกล้ระยะเวลาที่แม่และลูกนกที่ถูกเลี้ยงอยู่ในโพรงจะเปิดโพรงรังออกมา (ราวเดือนกันยายน) หลังจากเริ่มปิดโพรงมาตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม
อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมที่ https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000095682