รายงานภารกิจผู้พิทักษ์ของเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี พาไปชมภาพหาดูยาก วิถีดำรงชีวิต “นกเงือกหัวหงอก” ที่โพรงรัง เป็นภาพจากกล้องดักถ่ายที่บันทึกไว้ได้ ช่วงวันที่ 21,22 และ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา
ขณะทำการลาดตระเวนได้พบโพรงนกเงือกหัวหงอก เจ้าหน้าที่จึงติดตั้งกล้องดักถ่ายเอาไว้ พร้อมกับเฝ้าสังเกตการณ์ เพื่อสังเกตพฤติกรรมและบันทึกเป็นข้อมูล รวมถึงการป้องกันมิให้กลุ่มล่าลูกนกมาล้วงลูกนกไปจากโพรงรังได้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในภารกิจของชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อป้องกันภัยคุกคามในพื้นที่ป่า
ในคลิป จะเห็นนกตัวเงือกหัวหงอกตัวผู้ 2 ตัว มาอยู่ที่โพรงรัง นั่นเพราะพฤติกรรมการเลี้ยงลูกเป็นแบบมีผู้ช่วย หรือญาติมาช่วยเลี้ยง โดยผู้ช่วยก็มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ภาพตอนที่บันทึก (สิงหาคม) ใกล้ระยะเวลาที่แม่และลูกนกที่ถูกเลี้ยงอยู่ในโพรง จะเปิดโพรงรังออกมา (ราวเดือนกันยายน) หลังจากเริ่มปิดโพรงมาตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม
นกเงือกหัวหงอก (White-Crowned Hornbill) เป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิดของประเทศไทย พบยังอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย แถบเกาะสุมาตรา บอร์เนียว มาเลเซีย เวียดนาม เทือกเขาตะนาวศรี สำหรับในประเทศไทย นอกจากทางภาคใต้ เช่น อช.บูโด – สุไหงปาดี ก็พบเห็นอยู่บางแห่งของภาคตะวันตก เช่น อช.แก่งกระจาน
นกเงือกหัวหงอก จัดว่าเป็นนกเงือกที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ยาวนาน โดยจากการวิเคราะห์ทางดีเอ็นเอพบว่าเก่าแก่ถึง 47 ล้านปีก่อน ในปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อยู่ในบัญชี 2 ไซเตส และเป็นนกประจำถิ่นของไทย
ลักษณะของนกเงือกหัวหงอก ตัวเต็มวัยมีขนที่มีหัวสีขาวฟูคล้ายหงอน เวลาบินจะเห็นหางสีขาวชัดเจน ขนหางมีความสั้นยาวไล่จากด้านนอกเข้าหาเส้นกลางซึ่่งยาวที่สุด ขนปีกสีดำมีปลายปีสีขาว ปากและโหนกขนาดเล็กมีสีดำ ตัวผู้มีคอและท้องสีขาว ตัวเมียมีขนส่วนนี้สีดำ ตัววัยรุ่นมีขนตามตัวขาวประดำ โคนหางดำปลายหางขาว ขนปลายปีกขาว โดยตัวที่โตเต็มวัย มีขนาดความยาวลำตัวประมาณ 90 เซนติเมตร
สำหรับวิถีดำรงชีวิตของนกเงือกหัวหงอก ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก 4-7 ตัว บางครั้งมากถึง 20 ตัว เสียงร้อง อุ๊…อุ๋ ชอบอยู่ในป่าต่ำจนถึงป่าดงดิบ ส่วนใหญ่จะพบที่ระดับความสูง 120-820 เมตรจากระดับน้ำทะเล หากินบริเวณใต้เรือนยอดของต้นไม้ หรือที่ระดับผิวดินเล็กน้อย เป็นนกที่บินเงียบมาก
ด้านอาหารการกิน ชอบกินทั้งผลไม้และสัตว์เล็ก เช่น ไทร ตาเสือ ฯลฯ และสัตว์ต่างๆ เช่น กิ้งก่า แมลงต่างๆ ถือเป็นนกเงือกที่ชอบกินอาหารจำพวกสัตว์มากเมื่อเทียบกับนกเงือกชนิดอื่น
การที่นกเงือกหัวหงอก สามารถกระจายพันธุ์อยู่ในป่าแห่งนี้ได้ จึงสะท้อนว่า สภาพป่าแห่งนี้มีความสมบูรณ์เพียงพอ โดยที่นกเงือกเองยังทำหน้าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืชและควบคุมสัตว์เล็กที่จะทำลายเมล็ดไม้ นั่นทำให้นกเงือก เป็นนกที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศป่า
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 96 ของไทย มีเนื้อที่ประมาณ 213,125 ไร่ หรือ 341 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ยี่งอ อ.เจาะไอร้อง อ.ระแงะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.รามัน จ.ยะลา และอ.กะพ้อ จ.ปัตตานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และมีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะปาล์มบังสูรย์และใบไม้สีทอง เป็นจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง
ข้อมูลอ้างอิง
อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี Budo Su ngai Padi National Park
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
http://hornbill.or.th/th/about-hornbills/hornbill-species/white-crowned-hornbill/