หลังจากเจ้าหน้าที่ประจำชุดลาดตระเวนชุดที่ 5 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ระนอง และสุราษฎร์ธานี ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง เข้าสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพด้านสัตว์ป่าพร้อมกับออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) และเก็บกู้กล้อง Camera trap โดยออกปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 - 20 กันยายน 2564 ไม่พบปัจจัยคุกคามและการกระทำผิดในพื้นที่
จากการเปิดกล้องดักถ่ายพบภาพสัตว์ป่าในพื้นที่หลากหลายชนิด หนึ่งในนั้น คือ “สมเสร็จ” ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ สมเสร็จเป็น 1 ในสัตว์ป่าที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ ถือได้ว่าเป็นผลจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของทางเจ้าหน้าที่ซึ่งจะเป็นข้อมูลนำไปวางแผนการปฏิบัติงานสำหรับการดูแลทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าให้เกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ พื้นที่ที่เหมาะสมมากต่อการใช้ประโยชน์ของสมเสร็จ ส่วนใหญ่เป็นป่าใหญ่ หรือใจกลางของป่าอนุรักษ์ สภาพที่เป็นป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง อันเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 500-1500 เมตร มีระดับความลาดชันต่ำ ระหว่าง 0° -30° อยู่ห่างจากลำน้ำไม่เกิน 3 กิโลเมตร และห่างจากหมู่บ้านและชุมชนมากกว่า 15 กิโลเมตร
“สมเสร็จ” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในอันดับ Perissodactyla หรืออันดับของสัตว์กีบเดี่ยว อยู่ในกลุ่มเดียวกับม้า แรด และกระซู่ แต่สมเสร็จถูกแยกไว้ในวงศ์ Tapirdae มีอยู่เพียงชนิดเดียว คือ Tapirus indicus อีก 3 ชนิด มีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ (Medway,1969) ลักษณะทั่วไป ลักษณะรูปร่างของสมเสร็จมีส่วนคล้ายกับสัตว์หลายชนิดผสมอยู่ในตัวเดียวกัน โดยรูปร่างใหญ่ ขาสั้น และตีนมีกีบเหมือนแรด หูตั้งและตาเล็กเหมือนหมู หางสั้นเหมือนหมี จมูกและริมฝีปากบนยื่นออกมาคล้ายงวงช้างยืดและหดได้สามารถใช้หักกิ่งไม้และพ่นน้ำได้ สมเสร็จ เป็นสัตว์ที่มีระบบสายตาที่ไม่ดี แต่มีระบบประสาทรับฟังทางหูและดมกลิ่นดีเยี่ยม ปกติเป็นสัตว์ที่มีอุปนิสัยเรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว
ข้อมูลจากกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า ระบุว่า พบสมเสร็จ Malayan Tapir (𝘛𝘢𝘱𝘪𝘳𝘶𝘴 𝘪𝘯𝘥𝘪𝘤𝘶𝘴) ในพื้นที่กลุ่มป่าอนุรักษ์ 7 กลุ่มป่า ในภาคตะวันตกและภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 38 แห่ง กลุ่มป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สมเสร็จ ได้แก่ กลุ่มป่าฮาลา-บาลา กลุ่มป่าคลองแสง และกลุ่มป่าเขาหลวง โดยปัจจัยแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อการเลือกใช้ประโยชน์พื้นที่ของสมเสร็จ ได้แก่ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ รูปแบบกิจกรรมของมนุษย์และชุมชน
ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช