xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน ร่วมพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ยังเดินหน้าขับเคลื่อนการเป็นองค์กรเคารพสิทธิมนุษยชนในองค์กรต่อเนื่อง สนับสนุนโรงงาน ฟาร์ม พร้อมปรับปรุงการจัดการแรงงานขานรับกับมาตรฐานแรงงานไทย มรท.8001-2020 (ฉบับปรับปรุงใหม่) ยกระดับการคุ้มครองแรงงานหญิงและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมีมาตรการป้องกันควบคุมไม่ใช้ความรุนแรง และการคุกคามในสถานประกอบการ พร้อมถ่ายทอดให้แก่คู่ค้าและเกษตรกร ส่งเสริมให้ตลอดห่วงโซอุปทานอาหารปฏิบัติต่อแรงงานตามหลักสากล เพิ่มขีดความสามารถองค์กร คุณภาพของสินค้า และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานตามหลักสากล

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหาร ทรัพยากรบุคคล เครือซีพี และซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลิตและร่วมส่งมอบอาหารปลอดภัย บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นให้ทุกสถานประกอบการบริหารและจัดการแรงงานตามมาตรฐานสากลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ที่ผ่านมาสถานประกอบการโรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟได้เข้ารับรองมาตรฐานแรงงานไทย มรท. 8001 และได้รับการตรวจประเมินจากองค์กรภายนอก (Third Party) อย่าง SGS Thailand Limited, TUV SUD (Thailand) ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา และในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทฯ เดินหน้าส่งเสริมทุกหน่วยงานยกระดับการดำเนินงานด้านแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานไทยฉบับปรับปรุงใหม่ ที่ได้เพิ่มเติมการคุ้มครองแรงงานหญิงที่มีครรภ์และกำลังให้นมบุตร การป้องกันการใช้ความรุนแรง รวมถึงการคุกคามในสถานประกอบการ เพื่อให้มั่นใจ แรงงานทุกคนทั้งของบริษัทฯ ได้ทำงานในสถานที่เหมาะสม และมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย ควบคู่กับนโยบายการดูแลพนักงานให้มีความปลอดภัยในระดับสูงสุดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้แก่แรงงานหญิงได้เข้าใจและสนับสนุนการเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่ การจัดทำมาตรการป้องกันลูกจ้างถูกคุกคามล่วงเกิน และการควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงในสถานประกอบการ พร้อมทั้งส่งเสริมและส่งต่อแนวปฏิบัติที่ดีแก่คู่ค้าธุรกิจต่อไป

“ซีพีเอฟให้ความสำคัญตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทฯ ปฏิบัติและบริหารจัดการแรงงานตามหลักสากลและคงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน เพื่อให้พนักงานทุกคนทำงานด้วยความมั่นใจในความปลอดภัย และมั่นคง ตลอดจนได้รับการคุ้มครอง และที่สำคัญ บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของพนักงาน เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้องค์กรเป็นที่ยอมรับ ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า คู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลก” นางสาวพิมลรัตน์กล่าว


ทั้งนี้ ในปี 2564 นี้สถานประกอบการของซีพีเอฟ โรงงานและฟาร์มในธุรกิจสัตว์น้ำและสัตว์บกได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย มรท.8001 แล้วประมาณร้อยละ 94 และที่เหลืออยู่ในระหว่างขอการรับรองตามแผนภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน โรงงานและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ยังได้นำแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้แรงงาน หรือหลัก GLP (Good Labour Practices) มาประยุกต์ใช้ควบคู่กันด้วย


ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ในฐานะเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ยังได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยในการสร้างงานที่ดีและมีคุณค่า ส่งเสริมการจัดการด้านแรงงานอย่างรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทานไก่เนื้อไทยสู่มาตรฐานสากล โดยพัฒนาวิทยากรต้นแบบ (Training of Trainer) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนงานการดูแลและคุ้มครองแรงงาน และพัฒนาสภาพการทำงาน สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพของสินค้าตอบรับกับความคาดหวังของสังคม คู่ค้า ลูกค้าและผู้บริโภค ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานตามหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน


นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนให้เกษตรกรในโครงการคอนแทรกต์ฟาร์มปฏิบัติต่อแรงงานตามหลัก GLP ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยบริษัทฯ เข้าไปติดตามประเมินผลเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกษตรกรยกระดับมาตรการป้องกันและดูแลความปลอดภัยของคนงานในฟาร์มอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานทุกคนในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ ได้ทำงานอย่างปลอดภัย และได้รับการปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานสากล และร่วมกันขจัดการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกประเทศ รวมถึงการป้องกันใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง


กำลังโหลดความคิดเห็น