วันนี้ (18 ก.ย.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าราชการ และพนักงานกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันทำพิธีถวายเครื่องราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และวางพวงมาลา
ณ อนุสาวรีย์วีรชนป่าไม้ เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของบรรพชนและวีรชนป่าไม้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 125 ปี วันสถาปนากรมป่าไม้ และพิธีมอบโล่รางวัล เกียรติบัตร หนังสือชมเชยแก่ผู้ช่วยเหลือราชการกรมป่าไม้ และรางวัลอื่นๆ
นายวราวุธ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่ผ่านการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจได้มีการปรับรูปแบบการทำงานโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบเน้นสร้างความเข้าใจให้ประชาชนควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการร่วมกันป้องกันรักษาป่า ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงปีงบประมาณ 2564 (มิ.ย. 63 - มิ.ย. 64) ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการร่วมพญาเสือ พยัคฆ์ไพร เหยี่ยวดง ฉลามขาว หน่วยบินพิทักษ์ป่า (Sky Ranger) และหน่วยงานใน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถทวงคืนพื้นที่ป่าได้กว่า 80,000 ไร่
“นอกจากภารกิจด้านการป้องกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการจัดที่ดินให้กับชุมชนได้ทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ตามแนวทาง คทช. ซึ่งภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ จะเร่งผลักดันการอนุญาตในพื้นที่ คทช. ให้ได้ประมาณ 3.9 ล้านไร่ ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 4 แสนไร่ พร้อมจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนได้มีที่ดินทำกินถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการของรัฐต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง” นายวราวุธ กล่าว
ด้าน นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเสริมถึงแนวทางการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ที่จะเร่งผลักดันขับเคลื่อนในภารกิจ 5 เรื่องสำคัญ คือ 1. การรักษาป่าเดิม 2. การเพิ่มพื้นที่ป่าใหม่ 3. คนอยู่กับป่า 4. ส่งเสริมไม้มีค่า 5. พัฒนาป่าชุมชน ซึ่งมีการเริ่มดำเนินการและทำอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้กรมป่าไม้ดำเนินการในเรื่องของป่านันทนาการ ซึ่งมีการแก้กฎหมายในมาตรา 19 เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งพื้นที่ป่าสงวนฯ บางพื้นที่มีศักยภาพสามารถนำเอามาใช้ให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นหนทางในการดึงให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกรมป่าไม้ อีกทั้ง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง และอีกหนึ่งภารกิจที่กรมป่าไม้เร่งส่งเสริมคือการปลูกไม้เศรษฐกิจ จากการที่ได้ปลดล็อกมาตรา 7 พ.ร.บ.ป่าไม้ ให้ไม้ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ของชาวบ้านไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป สามารถปลูกและเมื่อโตก็สามารถตัดนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะนำพาเคลื่อนที่ไปไหนได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีความคล่องตัว สะดวกมากขึ้นและไม่มีข้อจำกัดในข้อกฎหมาย
นายอดิศร เผยอีกว่า การปลดล็อกมาตรา 7 ทำให้กรมป่าไม้เร่งเพาะกล้าไม้โดยเฉพาะไม้มีค่าทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ ไม้สัก ไม้พะยูง ยางนา ไม้มะฮอกกานี เป็นต้น สำหรับแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้นำไปปลูก เพื่อจะเป็นแหล่งเงินทุนสำรองในอนาคตใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินได้ ซึ่งที่ผ่านมากรมป่าไม้ มีการบริหารจัดการ และการบริการประชาชนแบบเปิด โดยมีการสื่อสารการรับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากภาคประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เกี่ยวกับการให้บริการในด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาขอรับบริการหรือติดต่องานกับกรมป่าไม้ได้มากขึ้น เช่น การติดต่อขอรับกล้าไม้ หรือการขออนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานด้านป่าไม้ รวมไปถึงการป้องกันดูแลรักษาป่า โดยกรมป่าไม้จะยังคงพัฒนาการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารงานและการบริการประชาชนดำเนินต่อไปได้
ในสถานการณ์ปัจจุบันและในโอกาสวันสถาปนากรมป่าไม้ ครบรอบ 125 ปี ในปีนี้ กรมป่าไม้ จะมีพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์กรมป่าไม้ ปลูกป่าในใจคน” โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่ได้รวบรวมจัดแสดงเกี่ยวกับงานด้านไม้ ที่มีการบอกเล่าเรื่องราวการป่าไม้ในประเทศไทย ลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการทำไม้ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงความรู้ด้านการป่าไม้เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้และเข้าใจถึงภารกิจสำคัญในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ และความเป็นมาของกรมป่าไม้ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการที่แบ่งออกเป็น 5 ส่วน
ส่วนที่ 1 “การทำไม้ในประเทศไทย” แสดงจุดเริ่มต้นของการป่าไม้ไทย การก่อกำเนิดกรมป่าไม้และเรื่องราวภารกิจที่ผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน, ส่วนที่ 2 “ภารกิจในผืนป่า” สร้างความตระหนัก และการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของภารกิจผ่านเหตุการณ์ที่ส่งผลถึงการดำเนินกิจการป่าไม้ในแต่ละยุคสมัย, ส่วนที่ 3 “ผู้พิทักษ์แห่งพงไพร” นำเสนอผลงานสำคัญของนักสู้แห่งพงไพรที่มีคุณูปการในวงการป่าไม้ และมีบทบาทที่ประทับใจในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้
ส่วนที่ 4 “Hall of Fame” จะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับเกียรติประวัติป่าไม้ ตลอดจนความซาบซึ้งในคุณูปการของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ต่อกิจการป่าไม้ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระลึกถึงเกียรติคุณและผลงานของอธิบดีกรมป่าไม้ และ ส่วนที่ 5 “พันธกิจกรมป่าไม้” รัฐมีป่า ประชามีสุข เรียนรู้เรื่องราวไม้ในประเทศไทย และพันธกิจของกรมป่าไม้ในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ให้คนไทยทั้งประเทศ
กรมป่าไม้ ขอเชิญชวนนักเรียน และประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางมาเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์กรมป่าไม้ ปลูกป่าในใจคน” ในวันและเวลาราชการ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ