xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่า! “ศาลาไทย” ใน “เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ” ชาวเน็ตไทยด่า แต่ว่าต่างชาติเข้าชมเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


อาคารศาลาไทย งานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ(ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai Thailand)
ดราม่าเกิดขึ้นทันทีหลังงาน “เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ” เพิ่งเริ่มจัดไปไม่กี่วัน โดยชาวเน็ตไทยเสียงแตก ฝั่งหนึ่งตำหนิอาคารศาลาไทยว่าล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนแห่งอนาคต ขณะที่อีกฝั่งชื่นชมบอกนี่คือ Soft Power อวดความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก ด้านผู้จัดเผยอาคารศาลาไทยมีผู้สนใจเข้าชมเป็นจำนวนมาก

งาน “เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ” (World Expo 2020 Dubai) เป็นหนึ่งในงานแสดงนิทรรศการที่ใหญ่ระดับต้น ๆ ของโลก ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 ต.ค.64 ที่ผ่าน โดยงานเวิลด์ เอ็กซ์โป ครั้งนี้มีกำหนดจัด 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 65 ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

งาน เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai)
เวิลด์ เอ็กซ์โป หรือ “งานนิทรรศการโลก” เป็น 1 ใน 3 ของงานยิ่งใหญ่ระดับโลก (เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและฟุตบอลโลก) โดยมีกำหนดจัดขึ้นทุก ๆ 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยงานมหกรรมโลก (Bureau of International Exposition (BIE) ซึ่งในปีนี้เนื่องจากโลกเผชิญวิกฤติโควิด-19 การจัดงานจึงเลื่อนจากปี 2020 มาจัดในปี 2021 โดยมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 192 ประเทศ

สำหรับการจัดงานเวิลด์ เอ็กซ์โป ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “เชื่อมความคิด สร้างอนาคต : CONNECTING MINDS, CREATING THE FUTURE” เพื่อแสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อน ให้เกิดความก้าวหน้า ด้วยการเชื่อมโยงผู้คน องค์กร และประเทศต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงมุ่งให้ความสำคัญกับ นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับความท้าทายของโลกในช่วงเวลานี้ เช่น น้ำ สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน ชีวิตในเมือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พิธีเปิดงาน เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai)
ในส่วนของประเทศไทยมีการนำเสนออาคารแสดงประเทศไทย หรือ “อาคารศาลาไทย” (Thailand Pavilion) ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” (Mobility for the Future) โดยมี “บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” เป็นผู้คว้าสิทธิ์บริหาร อาคารศาลาไทย ด้วยมูลค่าการจัดงานทั้งสิ้น 887 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 25 ล้านคน

อาคารศาลาไทย (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai Thailand)
อาคารศาลาไทย มีพื้นที่กว่า 3,600 ตารางเมตร หรือ 2.25 ไร่มุ่งนำเสนอความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก ประกอบด้วย 3 พื้นที่หลัก ได้แก่

1. นิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ แนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต และเสน่ห์ของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ

2. พื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ประกอบไปด้วย ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และ Showcase Thailand 4.0 เกี่ยวกับการพัฒนาและศักยภาพของ Thailand 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยนวัตกรรม และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย

3. เวทีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีไทย

ภายในอาคารศาลาไทย (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai Thailand)
สำหรับอาคารศาลาไทย ได้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2010 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งติดอันดับ Top 7 ของพาวิลเลี่ยนยอดนิยม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนจีนและคนต่างชาติรู้จักความเป็นไทยมากขึ้น

จากนั้นก็ได้มีการนำเสนออาคารศาลาไทยในงานใหญ่ต่าง ๆ อีก อาทิ ศาลาไทยในงาน Yeosu Expo 2012 Korea ที่เมืองยอซู ประเทศเกาหลี ซึ่งไทยติด Top 3 ของพาวิลเลียนยอดนิยม, ศาลาไทยในงาน Expo Milano 2015 ที่จัดขึ้น ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี, ศาลาไทยในงาน Astana Expo 2017 ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งไทยสามารถคว้าที่ 2 ของพาวิลเลียนยอดนิยมที่ดีที่สุดของเด็กและครอบครัวจากชาวคาซัคมาได้ และล่าสุดกับศาลาไทยในงาน เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ที่กำลังจัดอยู่ในขณะนี้

เผยแพร่ความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai Thailand)
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ครั้งนี้ประเทศไทยจะจัดสร้างอาคารแสดงประเทศไทยในพื้นที่จัดแสดงด้าน ‘Mobility’ หรือ ‘การขับเคลื่อน’ ภายใต้แนวคิด “Mobility for the future การขับเคลื่อนสู่อนาคต” โดยอาคารแสดงประเทศไทยจะเสนอแนวคิดของการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทยในมิติ Digital for Development ผสมผสานกับการนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการพัฒนาด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่โดดเด่น

สำหรับความแตกต่างของการทำอาคารศาลาไทยครั้งนี้ คือ กลุ่มเป้าหมายจะเปลี่ยนจากคนท้องถิ่นเป็นนักท่องเที่ยว 70% ซึ่งต่างจากหลาย ๆ ปีที่เราเคยจัดที่เป็นคนท้องถิ่นเข้ามาดู แต่เราตั้งเป้าไว้ว่าต้องทำให้เป็นพาวิลเลียนที่ได้รับความนิยมให้ได้ เราจึงศึกษาว่าคนต่างชาติมองประเทศไทยเป็นอย่างไร และจากผลการสำรวจของ ททท. พบว่าคนต่างชาติเห็นว่าคนไทยมีมิตรไมตรี มีความสุข ยินดีต้อนรับ และยิ่งตอกย้ำด้วยการได้รับรางวัล Best Country For People จากนิตยสาร Conde Nest Traveller ในปี 2018 ทำให้เรานำผลสำรวจในจุดนี้มาจัดสร้างไทยแลนด์พาวิเลียนผ่าน THAI’S DNA มหัศจรรย์แห่งรอยยิ้ม (Miracle of smile) เพื่อจะทำให้อาคารแสดงประเทศไทยของเราโดดเด่น และได้เลือกใช้พวงมาลัยเป็นสัญลักษณ์ประจำอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อสื่อถึงการต้อนรับที่จริงใจ

นักท่องเที่ยวสนใจอาคารศาลาไทย (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai Thailand)
ทั้งนี้หลังอาคารศาลาไทยเปิดตัวในงานเวิลด์ เอ็กซ์โบ 2020 ดูไบ นายเกรียงไกร ได้โพสต์บอกเล่า ผ่านบัญชีรายชื่อเฟซบุ๊คส่วนตัว -Kreingkrai Kanjanapokin(Mek) ถึงการนำเทคโนโลยีร่วมสมัยมาใช้ในการแสดงที่ศาลาไทยว่า

...ตั้งแต่ Digital facade ที่ทำให้ Pavilion เราโดดเด่นยามค่ำคืน เวทีการแสดงที่ใช้ จอ Led ขนาด 16x5 เมตร ประกอบการแสดง ครั้งแรกกับ 3 Technology ใหม่ Aquatic 4d picture ที่ใช้น้ำมาเป็นส่วนประกอบการแสดง , 360 flying theatre และ Pyramid Led เพื่อใช้เป็นสื่อในการนำเสนอประเทศไทยในโลกยุคdigital...

...ขอบคุณทุกความทุ่มเทของนักแสดง และทีมงานทุกคน เราพา Thailand มาไกลกว่าทุกครั้ง...


มวยไทย ศิลปะไทยประกาศศักดาต่อสายตาชาวโลก (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai Thailand)
นอกจากนี้ภายในอาคารศาลาไทยยังมีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม และการจัดแสดงที่สื่อความเป็นไทยต่าง ๆ อาทิ “Thai Miracle” ในวันเปิดตัวอาคารศาลาไทย, “Thai Fighting Spirit” ที่นำศิลปะการต่อสู่ โดยเฉพาะมวยไทยไปเผยแพร่ต่อสายตาชาวโลก, “Thai Rhythm” การแสดงด้านศิลปะดนตรีและการเต้นรำแบบไทยร่วมสมัย และ “ปาฏิหาริย์ไทย” การแสดงโขนไทยด้วยฉากและเทคนิคร่วมสมัย ซึ่งโขนไทยถือเป็นอีกหนึ่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก

อย่างไรก็ดีหลังข่าวและภาพอาคารศาลาไทย ของประเทศไทยในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลก็ได้มีดราม่าเกิดขึ้น เมื่อชาวเน็ตบ้านเราเสียงแตกซึ่งมีทั้งตำหนิและชื่นชม

โขนไทยอวดสายตาชาวโลก (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai Thailand)
โดยชาวเน็ตส่วนหนึ่งตำหนิและปรามาสอาคารศาลาไทยว่า เป็นการนำเสนอแบบเก่า ๆ ที่ล้าหลังไม่ทันสมัย แต่ว่าไม่ตอบโจทย์แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” ไม่มีการนำเสนออะไรใหม่ ๆ ที่เป็นธีมหลักรวมของงานอย่างเช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน เรื่องของสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีด้านการเกษตร และวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร เป็นต้น รวมถึงมีการนำไปเปรียบเทียบกับอาคารจัดแสดงของประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

ต่างชาติเรียนรู้วัฒนธรรมไทย (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai Thailand)
ขณะเดียวกันก็มีชาวเน็ตอีกจำนวนมากที่ชื่นชมและชื่นชอบอาคารศาลาไทย และศิลปะการแสดงต่าง ๆ ภายในงานเวิลด์ เอ็กซ์โปครั้งนี้ อาทิ มีความสวยงาม แสดงถึงความเป็นไทย มีการประยุกต์งานศิลปวัฒนธรรมไทยให้ดูร่วมสมัย เข้าถึงง่าย เป็นดัง Soft Power อวดความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก

และนี่ก็คือดราม่า 2 มุมมองต่ออาคารศาลาไทย และการจัดแสดงของไทยในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ซึ่งหลังมีการเปิดงานดังกล่าว ทางเพจ Expo 2020 Dubai Thailand ที่เป็นหนึ่งในทีมผู้ร่วมจัดงาน ก็ได้รายงานว่ามีผู้สนใจทั้งคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาชมการแสดงและชมศาลาไทยกันเป็นจำนวนมาก

ผู้สนใจเข้าคิวรอชมศาลาไทย (ภาพจาก : เพจ Expo 2020 Dubai Thailand)
ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมผลสำเร็จจากการเปิดต้อนรับผู้เข้าชมทั่วโลกอย่างเป็นทางการของอาคารแสดงประเทศไทย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังมั่นใจว่า การแสดงศักยภาพของไทยในงาน World Expo 2020 Dubai จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้ ตลอดจนจะช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แผนการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ทั้งที่เริ่มดำเนินการแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) โครงการสมุยพลัส (Samui Plus) โครงการส่วนขยายของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 (Phuket Extension) และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวระยะที่ 2 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี (เมืองพัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.ดอยเต่า) เพชรบุรี (ชะอำ) และประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กระจายรายได้สู่ชุมชน และรักษาการจ้างงาน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากสถานการณ์โควิด-19

อาคารจัดแสดงประเทศสิงคโปร์ (ภาพจาก : www.archdaily.com)
#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline






กำลังโหลดความคิดเห็น