xs
xsm
sm
md
lg

ชวนชม “ทับหลัง 5 ปราสาทหิน” สวยงามคลาสสิก มรดกวัฒนธรรมล้ำค่าแห่งสยามประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ทับหลังศิวนาฏราช ปราสาทศีขรภูมิ ทับหลังที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในเมืองไทย
ชวนชมทับหลังของ 5 ปราสาทหินในเมืองไทย ที่มีภาพจำหลักหินสวยคลาสสิก บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อและยุคสมัยของปราสาทหินนั้น ๆ เพื่อช่วยหนุนส่งให้การเที่ยวชมปราสาทหินมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น

ถือเป็นข่าวดีในท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 เมื่อ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์” และ “ทับหลังปราสาทเขาโล้น” ที่จากถิ่นเมืองไทยไปอยู่อเมริกานานกว่า 50 ปี เดินทางกลับสู่มาตุภูมิเมื่อค่ำวันที่ 28 พ.ค. 64

ทับหลังปราสาทหนองหงส์ (ซ้าย) และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น (ขวา)
หลังจากนี้ทางกรมศิลปากร จะมีการจัดแสดงนิทรรศการของทับหลังทั้งสอง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ผู้สนใจได้ชมกันเป็นเวลา 3 เดือน ใครที่สนใจปักหมุดรอกันได้ (คาดว่าจะได้ชมกันอีกไม่นานนี้)

นอกจากทับหลังทั้ง 2 แล้ว บ้านเรายังมีทับหลังที่สวยงามคลาสสิกตามปราสาทหินต่าง ๆ ให้ชมถึงที่ควบคู่ไปกับตัวปราสาทหิน หรือ “ปราสาทขอม” นั้น ๆ อยู่ไม่น้อย และนี่ก็คือทับหลังของ 5 ปราสาทหินในเมืองไทย อันสวยงามคลาสสิก ซึ่งจะมีที่ไหนบ้าง ขอเชิญทัศนากันได้

ปราสาทบ้านพลวง


ปราสาทบ้านพลวง จ.สุรินทร์
ปราสาทบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ต.กังแอน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นปราสาทขนาดเล็กหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปราสาทก่อด้วยหินทรายและอิฐ มีปรางค์ประธานองค์เดียวตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีคูน้ำล้อมรอบ

ปราสาทบ้านพลวง เป็นดังอันซีนของเมืองช้างสุรินทร์ เพราะถึงแม้ตัวปราสาทจะมีขนาดเล็ก แต่ว่ามีลวดลายจำหลักหินที่ดูน่าทึ่งทั้งบนหน้าบัน กรอบเสา โดยเฉพาะที่ทับหลังที่ยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีลวดลายจำหลักหินที่อ่อนช้อยสวยงามมาก

ทับหลังภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลิยะ ปราสาทบ้านพลวง
ทับหลังปราสาทบ้านพลวงมีลวดลายเป็นศิลปะขอมแบบบาปวน ทับหลังด้านทิศเหนือเป็นภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลิยะ ส่วนทับหลังด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ จำหลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่บนเกียรติมุขหรือตัว “หน้ากาล”

ทับหลังรูปพระอินทร์ทั้ง 2 ด้าน ล้วนจำหลักด้วยลวดลายที่แตกต่างกัน โดยด้านทิศตะวันออกจะมีรูปสัตว์ต่าง ๆ สอดแทรกอยู่เหนือกรอบทับหลัง สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์

ทับหลังภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนหน้ากาล ปราสาทบ้านพลวง
ภาพพระอินทร์บนทับหลังปราสาทบ้านพลวงถือเป็นหลักฐานสำคัญที่นักวิชาการใช้สันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานชุมชนที่ใช้สำหรับบูชาพระอินทร์เมื่อครั้งในอดีต

ปราสาทหินพิมาย


ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ปราสาทหินพิมาย ตั้งอยู่ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ปลาย พ.ศ. 16 และต่อเติมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวต้น พ.ศ. 18 ตัวปราสาทเป็นศิลปะแบบบาปวน (ยุคแรก) เจือปนนครวัด (ยุคต่อเติม)

ปราสาทหินพิมาย มีลักษณะจำเพาะที่พิเศษหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น

-ปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ปรางค์ประธาน ปราสาทหินพิมาย
-ปราสาทหินที่หันหน้าไปทางทิศใต้ (ต่างจากปราสาทหินอื่น ๆ ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก) ซึ่งสันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ที่เข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้

-ปราสาทหินที่ (นักวิชาการส่วนหนึ่ง) เชื่อกันว่าเป็นต้นแบบของ “ปราสาทนครวัด“ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในกัมพูชา

-ปราสาทหินที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน เนื่องจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

พระพุทธรูปรางค์นาคปรก ภายในปรางค์ประธาน
สำหรับสิ่งชวนเที่ยวชมที่ปราสาทหินพิมายนั้นก็มีหลากหลายไล่ไปตั้งแต่ สะพานนาคราชทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท, ซุ้มประตูหรือโคปุระจากชั้นนอกสู่ชั้นใน, ปราสาทปรางค์ประธาน ที่ภายในเรือนธาตุเป็นห้องครรภคฤหะ (ห้องที่สำคัญที่สุด) ประดิษฐานพระพุทธรูปรางค์นาคปรก รูปเคารพสำคัญในศาสนาพุทธมหายาน

ปรางค์หินแดงและปรางค์พรหมทัต (ที่ตั้งอยู่ขนาบข้างปรางค์ประธาน) ภายในปรางค์พรหมทัตประดิษฐานรูปเคารพของพระเจ้าชัยวันมันที่ 7 (ปัจจุบันคือองค์จำลอง องค์จริงถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ฯพิมาย) ซึ่งในอดีตชาวบ้านแถบนี้เชื่อกันว่าเป็นรูปเคารพของ “ท้าวพรหมทัต”

ทับหลังประตูมุขทิศตะวันออก ภาพรามเกียรติ์ ตอนพระรามฆ่ายักษ์วิราธ
นอกจากนี้ปราสาทหินพิมายยังมีลวดลายจำหลักหินสวย ๆ งาม ๆ ประดับให้ชมกันหลายจุดด้วยกัน ทั้งบริเวณหน้าบันและที่ทับหลัง โดยลวดลายที่ปรากฏมีทั้งความเชื่อของศาสนาพุทธและความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู)

สำหรับลวดลายในศาสนาพุทธชวนชมบนทับหลัง ก็ อย่างเช่น ภาพพระพุทธเจ้าแสดงธรรม, ภาพพุทธประวัติตอนโปรดพญามารหรือทรมานพญามหาชมพู, ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งโดยมีมุจลินทร์พญานาค 7 เศียรคอยปกป้อง, ภาพเหวัชระหรือวัชรินทร์ (หลายคนคิดว่าภาพพระพรหม) ที่ทับหลังภายในปรางค์ประธาน และภาพกมรเตงชคตวิมายะและพระชินพุทธะ เป็นต้น

ทับหลังภายในปรางค์ประธานเป็นภาพเหวัชระหรือวัชรินทร์
ส่วนภาพบนทับหลังตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่เด่น ๆ นั้นก็ได้แก่ภาพจากเรื่องรามายนะ (รามเกียรติ์) ตอนพระรามจองถนนและท้าวมาลีวราชว่าความ, ตอนศึกยุทธกัณฑ์ที่เป็นการรบพุ่งกันระหว่างกองทัพพระรามและทศกัณฑ์ ตอนพระรามพระลักษมณ์ต้องศรนาคบาศ ตอนพระรามฆ่ายักษ์วิราธ รวมถึงภาพของเทพเจ้าต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์

นับได้ว่าปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทที่น่าจะมีลวดลายบนทับหลังปรากฏหลงเหลือเรื่องราวให้ชมกันมากที่สุดในเมืองไทย

ปราสาทศีขรภูมิ


ปราสาทศีขรภูมิ จ.สุรินทร์
ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง ตั้งอยู่ที่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ศิลปะนครวัด เพื่อเป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย

ปราสาทศีขรภูมิ เป็นปราสาทขนาดเล็กประกอบด้วยปรางค์ 5 องค์ ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานหินศิลาแลง ในลานสนามหญ้า มองเห็นเป็นสีแดงน้ำตาลตัดกับพื้นสีเขียวขจีดูโดดเด่นสะดุดตาไม่น้อย

ประตูทางเข้าปราสาทศีขรภูมิมีภาพจำหลักนางอัปสราและทับหลังที่สวยที่สุดในเมืองไทย
ปราสาทแห่งนี้มีไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาดสำหรับผู้ไปเยือน คือลวดลายจำหลักหินอันสวยงาม ที่หลงเหลือให้ชมกันบางส่วนโดยเฉพาะทางด้านหน้าของปราสาท ไม่ว่าจะเป็น ลวดลายเล็ก ๆ น้อย ที่เสา บัวหัวเสา, ภาพพญานาคบนกลีบขนุน, ภาพนางอัปสราถือดอกไม้บนกรอบเสาประตูที่ช่างโบราณจำหลักได้อย่างประณีตสวยงามดูมีชีวิตจนได้ชื่อว่าเป็นภาพจำหลักหินนางอัปสราที่สวยที่สุดในเมืองไทย

นางอัปสราสวยที่สุดในเมืองไทยแห่งปราสาทศีขรภูมิ
ส่วนเหนือขึ้นไปเป็นทับหลังจำหลักลวดลาย “ศิวนาฏราช” ภาพพระศิวะ 10 กร กำลังวาดลีลาร่ายรำบนหงส์ 3 ตัว เหนือหน้ากาล โดยมีเทพอีก 4 องค์ คือ พระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมา (มเหสีของพระศิวะ) ร่วมในพิธีอยู่ท่ามกลางลวดลายพวงมาลัยตีวงโค้ง ด้านล่างเป็นรูปฤษี รสิงห์ ที่ช่างโบราณแกะออกมาได้อย่างงดงามวิจิตร อ่อนช้อย ประณีต ดูมีชีวิต ทำให้ทับหลังปราสาทศีขรภูมิถูกยกย่องให้เป็นทับหลังที่สวยงามที่สุดในเมืองไทย

ปราสาทเมืองต่ำ


ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์
ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เป็นศิลปะแบบบาปวน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 เพื่อเป็นเทวสถานของลัทธิฮินดูไศวนิกาย ตัวปราสาทหลักเป็นปรางค์อิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

ปราสาทเมืองต่ำเป็นปราสาทขนาดย่อม กะทัดรัด ที่มีความงดงามคลาสสิกจนถูกยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ โดยมีมุมไฮไลท์ที่เป็นภาพจำของปราสาทแห่งนี้ ก็คือ ภาพมุมมองจากด้านนอกตัวปราสาทหลัก ที่มองผ่านบาราย (สระน้ำ) ที่สร้างรายรอบตัวปราสาททั้ง 4 ด้าน เปรียบดังมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

ปราสาทเมืองต่ำอันซีนไทยแลนด์ กับบารายและนาคหัวโล้น
ขณะที่มุมขอบสระสร้างเป็นรูปพญานาค 5 หัว กำลังชูคอแผ่พังพาน ด้านบนหัวพญานาคเรียบเกลี้ยงไม่มีรัศมีหรือเครื่องประดับใดๆ จนถูกเรียกเป็น “พญานาคหัวโล้น” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะขอมแบบบาปวนที่ยังคงเอกลักษณ์ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ปราสาทเมืองต่ำยังมีลวดลายจำหลักหินสวยๆ ๆ งาม ๆ ให้ชมกันตามจุดต่าง ๆ นำโดยหน้าบันจำหลักรูป “พระอินทร์ประทับนั่งบนช้างเอราวัณ” โดยมีตัวหน้ากาลซึ่งหน้าตาคล้ายสิงห์อยู่ข้างล่าง ท่ามกลางลวดลายสลักรูปดอกไม้

ทับหลังภาพพระศิวะปางอุมามเหศวร ประทับบนโคนนทิ
ส่วนทับหลังของที่นี่ก็มีความสวยงามน่ายลและไม่ควรมองข้าม โดยที่เด่น ๆ ก็มี ภาพพระศิวะปาง “อุมามเหศวร” ประทับบนโคนนทิ ที่ทับหลังองค์ปรางแถวหน้าด้านทิศเหนือ ภาพพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะที่ทับหลังองค์ปรางแถวหลังด้านทิศเหนือ และภาพพระอินทร์ (หรือเทวะ) นั่งประทับบนตัวหน้ากาลที่ทับหลังองค์ปรางค์แถวหน้าด้านทิศใต้

นอกจากนี้ปราสาทเมืองต่ำยังมีองค์ประกอบและลวดลายจำหลักหินต่าง ๆ ให้เดินชมกันอย่างเพลิดเพลิน

ปราสาทหินพนมรุ้ง



ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่ “อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง” อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่องค์ประกอบโดยรวมได้รับการยกย่องว่าเป็นปราสาทหินที่งดงามที่สุดในเมืองไทย

ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 และมีการบูรณะเรื่อยมา โดยเคยเป็นทั้งศาสนาสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย และศาสนสถานในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน

ปราสาทหินพนมรุ้ง มีองค์ประกอบที่เด่น ๆ หลากหลาย อาทิ

-เป็นปราสาทหินที่ก่อสร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน

-เป็นปราสาทหินที่สร้างบนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว

ปรางค์ประธาน ปราสาทหินพนมรุ้ง
-เป็นปราสาทหินที่มีการก่อสร้างและวางผังได้อย่างสุดยอด โดยสร้างตามคติจักรวาลมีองค์ปรางค์ประธานเปรียบดังยอดเขาพระสุเมรุ มีเส้นทางเดินสู่ปราสาทเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์

-เป็นปราสาทที่มีสิ่งอันน่าอัศจรรย์จากปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ส่องตรงลอดช่องทะลุประตูทั้ง 15 ช่องเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งในหนึ่งปีจะมี 4 ครั้ง

นอกจากนี้ปราสาทหินพนมรุ้งยังเป็นแหล่งชมภาพจำหลักหินที่ดีที่สุดในเมืองไทย เพราะมีภาพจำหลักหินสวย ๆ งาม ๆ ให้ชมกันเพียบ รวมถึงภาพภาพเชิงสังวาสหรือภาพราคะศิลป์แฝงอารมณ์ขัน ความซุกซน ขี้เล่นของช่างโบราณ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของปราสาทแห่งนี้

ลวดลายที่ซุกซ่อน
ขณะที่ลวดลายจำหลักหินที่เป็นไฮไลท์ต้องห้ามพลาดของปราสาทแห่งนี้ก็ภาพ “ศิวนาฏราช” ที่หน้าบัน และภาพ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่ทับหลัง ที่ตั้งอยู่เคียงคู่กัน

สำหรับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่จำหลักเป็นรูปพระนารายณ์กำลังบรรทม (นอน) ตะแคงขวาบนพระยาอนันตนาคราชพร้อมด้วยองค์ประกอบอื่นๆ อย่าง หน้ากาล ครุฑ นกแก้ว ลิง นั้น ถือเป็นทับหลังที่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองไทย ซึ่งในอดีตทับหลังแห่งนี้เคยถูกโจรกรรมไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่อเมริกา ก่อนที่บ้านเราจะทวงคืนกลับมา (เช่นเดียวกับทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้นที่กล่าวถึงในข้างต้น ) จนเกิดเป็นเพลง “ทับหลัง”ของคาราบาว กับเนื้อร้องอันแสบสันต์ “เอาไมเคิล แจ๊คสัน คืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา...เอาไมเคิล แจ๊คสัน คืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา...”

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังที่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองไทย
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ชวนชมในทับหลังของ 5 ปราสาทหินในเมืองไทย มรดกวัฒนธรรมล้ำค่าแห่งสยามประเทศ ที่มีภาพจำหลักหินอันสวยงามคลาสสิก บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อและยุคสมัยของปราสาทหินนั้น ๆ เพื่อช่วยหนุนส่งให้การเที่ยวชมปราสาทหินมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังเป็นอุทาหรณ์เตือนใจคนไทยต้องช่วยกันอนุรักษ์ปกปักรักษาไว้ให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ทับหลังเมืองไทยถูกขโมยไปขายที่ต่างแดน (รวมไปถึงโบราณวัตถุสำคัญอื่น ๆ ) เดือดร้อนให้คนไทยที่ทนไม่ได้ ต้องมาทวงคืนแบบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือ ทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้นกันอีกเลย

หน้าบันภาพศิวนาฏราช
#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น