“ทับหลังปราสาทหนองหงส์” และ “ทับหลังปราสาทเขาโล้น” กลับคืนสู่ประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา และจะมีพิธีบวงสรวงต้อนรับในวันที่ 31 พ.ค. เวลา 17.00 น. จากนั้นเบื้องต้นทับหลังทั้งสองจะถูกจัดแสดงที่ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นเวลา 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.) ผู้สนใจสามารถไปชมมรดกชาติล้ำค่าที่จากเมืองไทยอยู่อเมริกานานกว่า 50 ปีกันได้
มรดกชาติล้ำค่ากลับคืนสู่มาตุภูมิ
หลังเดินทางจากเมืองไทยไปอยู่อเมริกานานกว่า 50 ปี วันนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์” และ “ทับหลังปราสาทเขาโล้น” ได้เดินทางกลับคืนสู่มาตุภูมิแล้วในวันที่ 28 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา
เมื่อผ่านกระบวนการต่าง ๆ ในการนำทับหลังทั้งสองออกจากสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ก็จะมีพิธีบวงสรวงต้อนรับทับหลังทั้งสอง ในวันจันทร์ที่ 31 พ.ค.64 เวลา 17.00 น. ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี
หลังจากนั้นในเบื้องต้น ทับหลังทั้งสองจะถูกจัดแสดงที่ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค. เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจได้มีโอกาสเข้าชมศึกษาหาความรู้ หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาเพื่อหาสถานที่จัดเก็บรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ทับหลังปราสาทหนองหงส์
ทับหลังปราสาทหนองหงส์ เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของ “ปราสาทหนองหงส์” ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ (ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขื่อนลำนางรอง)
ปราสาทหนองหงส์ เป็นโบราณสถานขนาดเล็กประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูเข้าออกด้านหน้า ส่วนประตูอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก
ปรางค์ทั้งสามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าสององค์ มีทับหลังประดับจำหลักลายสวยงาม ด้านหน้าปรางค์องค์กลางมีทางเดินยาวยื่นออกมา มีบันไดทางด้านหน้าและด้านข้างทั้งสอง
นอกจากนี้ยังมีวิหาร (บรรณาลัย) หันหน้าเข้าหาปรางค์องค์ทิศใต้ อีก 1 หลัง ก่อด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบ
อายุสมัยของปราสาทหนองหงส์ เมื่อดูจากลักษณะการก่อสร้างและศิลปกรรมที่พบ ตรงกับศิลปะเขมรแบบ บาปวน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกันกับนครวัด-นครธม ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักทั่วโลก และร่วมสมัยกับปราสาทเมืองต่ำ - ปรางค์น้อย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทโคกปราสาทเหนือ ใน จ.บุรีรัมย์
สำหรับทับหลังของปราสาทหนองหงส์ เป็นทับหลังที่ทำจากหินทราย จำหลักรูปพระยมทรงกระบือ ประทับเหนือหน้ากาล โดยตามความเชื่อของศาสนาฮินดูนั้น “พระยม” ถือเป็นเทพประจำทิศใต้ และเป็นเทพแห่งความตาย ทรงกระบือเป็นพาหนะ พระหัตถ์ขวาถือคฑาเป็นอาวุธ มีดาวอังคารเป็นดาวประจำองค์
ทับหลังพระยมทรงกระบือแห่งปราสาทหนองหงส์นี้มีภาพเก่าแก่ที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดีของไทยได้ถ่ายภาพไว้ขณะออกสำรวจเมื่อราว พ.ศ.2503-2504 ซึ่งขณะนั้นทับหลังยังคงอยู่คู่กับตัวปราสาทฝั่งทิศใต้ ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการอ้างอิงว่าทับหลังชิ้นนี้เป็นของไทยอย่างแท้จริง
ทับหลังปราสาทเขาโล้น
ทับหลังปราสาทเขาโล้น เป็นโบราณวัตถุสำคัญของ “ปราสาทเขาโล้น” ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดปราสาทเขาโล้น บ้านเจริญสุข ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่เหนือยอดเขาโล้นซึ่งเป็นเขาเตี้ย ๆ เป็นปราสาทก่อด้วยอิฐ ส่วนยอดของปราสาทหักหาย ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าด้านเดียวอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก
ในเว็บไซต์วารสารเมืองโบราณ ได้ระบุถึงทับหลังของปราสาทเขาโล้นว่า ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลกล่าวในหนังสือ “ศิลปะสมัยลพบุรี” มีความตอนหนึ่งว่า
“...ปราสาทเขาโล้นเป็นประสาทหลังเดียว ก่อด้วยอิฐ ทับหลังสลักเป็นรูปเกียรติมุขอยู่ตรงกลาง มีริมฝีปากล่างและแลบลิ้นออกมาเป็นแผ่นสามเหลี่ยม มีเทวดาประทับนั่งชันเข่าอยู่ข้างบน อย่างไรก็ดี ท่อนพวงมาลัยนั้นไม่ได้ออกมาจากปาก แต่อยู่ใต้ลิ้น และท่อนปลายของพวงมาลัยก็ขมวดเป็นวงโค้งสลับกันเพียงข้างละ 2 วงเท่านั้น เหตุนั้นจึงอาจอยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1700-1750 แทนที่จะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1600-1650 อย่างไรก็ดี เสาอิงกรอบประตูและกรอบประตูหินทรายก็ดูอาจจะเก่าแก่กว่าระยะนี้ อายุของปราสาทแห่งนี้ยังไม่สู้แน่นอนนัก มีจารึกสลักอยู่บนกรอบประตูด้านใต้และด้านเหนือบ่งถึง พ.ศ.1559 แต่เสาอิงประตูและกรอบประตูหินทรายเหล่านี้อาจจะนำมาจากปราสาทหลังอื่นที่เก่าแก่กว่านี้ก็ได้...”
สำหรับทับหลังปราสาทเขาโล้น เป็นทับหลังที่ทำจากหินทราย จำหลักลายพระอินทร์เหนือเกียรติมุข
ทั้งนี้การหายไปจากเมืองไทยของทับหลังทั้งสอง มีหลักฐานภาพถ่ายว่า ทับหลังทั้งสองเคยประดิษฐานอยู่เหนือกรอบประตูปราสาทของปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น แต่คาดว่าน่าจะถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทยในช่วงปี 2508 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเวียดนาม
สำหรับการได้ทับหลังทั้งสองกลับคืนสู่เมืองไทยถือเป็นเรื่องน่ายินดีต่อการสืบค้นเรื่องราวเพิ่มเติมของ ปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น ซึ่ง รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เมื่อจัดแสดงครบ 3 เดือนแล้ว ไม่อยากให้เก็บเข้าไปไว้ในคลัง เพราะทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะในแง่ของประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีแต่มีคุณค่าในเรื่องของความตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรมอีกด้วย
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline