xs
xsm
sm
md
lg

ชวนสายบุญเที่ยวสุขใจ ไหว้พระ 5 วัดเก่า เสริมสิริมงคลที่จันทบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดตะปอนใหญ่ เป็นวัดโบราณเก่าแก่สร้างเมื่อสมัยอยุธยาตอนปลาย
“จันทบุรี” นับเป็นจังหวัดใกล้กรุงเทพ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายและหลากหลาย ทั้งชายทะเล โบราณสถาน รวมถึงวัดวาอาราม ที่นอกจากเป็นสถานที่ทำให้จิตใจสงบแล้ว ยังมีความสวยงามด้วยเช่นกัน วันนี้เราได้รวบรวม 5 วัดเก่าของจันทบุรีมาให้เหล่าบรรดาสายบุญไปไหว้พระเสริมสิริมงคลกัน

วัดตะปอนน้อย อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของจันทบุรี
วัดตะปอนน้อย

มาเริ่มกันที่ “วัดอินทราราม” หรือ “วัดตะปอนน้อย” ตั้งอยู่ในตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของจันทบุรี ภายในวัดมีพระอุโบสถโบราณสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่หลายครั้ง ที่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในการบูรณะในปี 2125 โดยมีคุณหญิงเหล็งผู้มีเชื้อสายจีนเป็นผู้นำศรัทธาทั้งอุบาสกอุบาสิกาผู้มีจิตเลื่อมใสศรัทธา ร่วมบริจาคทรัพย์ทำการก่อสร้างบูรณะซึ่งทุนทรัพย์ในครั้งนั้นเท่าใดมิได้ปรากฏหลักฐาน เมื่อทำการก่อสร้างเสร็จได้มีการฉลองสมโภชอุโบสถตลอด 7 วัน 7 คืน จากนั้นก็ได้ใช้ทำสังฆกรรมตลอดมา

องค์พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ต่อมาเมื่อปี 2227 ได้มีการบูรณะต่อเติมอีกครั้งโดยเปลี่ยนจากผนังและเสาไม้มาเป็นก่ออิฐถือปูนโดยกรรมวิธีแบบโบราณ โดยช่างได้นำวัตถุธรรมชาติ อาทิ ดินเหนียว ดินทรายเปลือกหอย นำมาตำและฉาบด้วยอิฐเผา โดยยังคงรูปการก่อสร้างตามโครงสร้างเดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยตัวพระอุโบสถเป็นรูปทรงเก๋งจีนผสมทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องดินเผา

ภายในอุโบสถยังประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ องค์พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะสีทองเหลืองสัมฤทธิ์ เป็นศิลปะในสมัยอยุธยาตอนต้น มีขนาดหน้าตักกว้าง 76 นิ้ว หน้าฐานล่างกว้าง 93 นิ้ว สูงรวมฐาน 123 นิ้ว

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง

พระอุโบสถหลังเก่า
วัดตะปอนใหญ่

มาต่อที่ "วัดตะปอนใหญ่" เป็นวัดโบราณเก่าแก่สร้างเมื่อสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ.2290 ชื่อเดิมของวัดแห่งนี้คือ วัดโพธิธาราม เพราะว่าในวัดมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ปกคลุมเจดีย์เก่าอยู่ขึ้นบริเวณริมคลองตะปอนใหญ่ ภายหลังก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดตะปอนใหญ่ ตามชื่อของหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธเมตตา
ในอดีตวัดตะปอนใหญ่นี้ได้ตั้งอยู่ในเส้นทางของขบวนเกวียนของพ่อค้าขึ้น ล่อง ค้าขายเป็นประจำ สำหรับช่อวัดที่มีคำว่า ตะปอน นั้นมาจาก ตะโพง ความหมายของคำนี้คือเป็นลักษณะของการภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ได้แก่ พระอุโบสถ(หลังเก่า) อุโบสถหลังนี้ได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2355 สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นและหลวงพ่อเพชร อินฺทปัญโญ ทำการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2455 ลักษณะในปัจจุบันเป็นพระอุโบสถก่ออิฐถือปูนทรงโรง หลังคาเครื่องไม้มุง

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธเมตตา (หลวงพ่อสัมฤทธิ์ผล) พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ทรงประทับนั่งในอิริยาบถแบบวีราสนะแสดงภูมิปรรศมุทรา มีการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในวัดตะปอนใหญ่ 3 รายการคือ ตู้พระธรรมไม้ศิลปะรัตนโกสินทร์ หีบพระธรรมไม้ศิลปะรัตนโกสินทร์ และธรรมาสน์ไม้ลงรักปิดทองศิลปะรัตนโกสินทร์ สถานการณ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมโดยรอบ มีการพัฒนาสมัยใหม่ที่มีรูปแบบอาคารบ้านพักอาศัยเกิดขึ้น มีประชากรหลากหลาย สัญชาติ เข้ามารับจ้างและประกอบกอบอาชีพค้าขายผลไม้ สภาพลักษณะในปัจจุบันยังคงอนุรักษ์พระอุโบสถวัดตะปอนใหญ่ให้คงสภาพเดิม

พุทธประติมากรรมสะท้อนเรื่องราวของพระพุทธเจ้า
วัดชากใหญ่

หากใครชอบความร่มรื่นและสงบชวนสุขใจจะต้องไม่พลาดมาที่ “วัดชากใหญ่” ตั้งอยู่ที่ ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เดิมมีชื่อว่า “วัดมหาปทุมวิทยาราม” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดชากใหญ่” ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2498 โดย หลวงตามหาบัว (พระอาจารย์ มหาบัว ญาณสัมปันโน ) จนถึงปีพ.ศ. 2508 พระอธิการธรรมรัติ ได้มาจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสวัด

องค์พระนอนภายในวัดชากใหญ่
ภายในวัดมีอาณาบริเวณอันร่มรื่นบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ เป็นที่ตั้งของพุทธอุทยานมหาปทุมวิทยาญาณสัมปันโน สร้างขึ้นโดยพระครูธรรมวิสุทธิมงคล เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ในปี พ.ศ. 2498 และได้รับการพัฒนาเรื่อยมา จนกลายเป็นพุทธอุทยานฯ และภายในอุทยานฯ ยังมีพุทธประติมากรรมอันยิ่งใหญ่อลังการ สะท้อนเรื่องราวของพระพุทธเจ้าขณะแสดงธรรมเทศนาโปรดบุคคลต่าง ๆ ตามพุทธประวัติ โดยมีแผ่นป้ายอธิบายเรื่องราวรายละเอียดตามพุทธประวัติของประติมากรรมนั้น ๆ

บรรยากาศเงียบสงบร่มรื่น
สถานที่แห่งนี้มีบรรยากาศเงียบสงบร่มรื่น เนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่ปลูกนานาพันธุ์ผสมผสานกับต้นยางพาราได้อย่างลงตัว ซึ่งหากเดินชมจนทั่วจะพบว่ากุฏิของสงฆ์ใช้ใบจากมุงหลังคาและมุงเป็นผนัง ซึ่งพระอาจารย์มหาบัวให้พระสงฆ์อยู่เพื่อปฏิบัติธรรม

วัดปากน้ำแขมหนู อีกหนึ่งวัดสวยของไทย
วัดปากน้ำแขมหนู

ถ้าพูดถึงวัดที่สวยงามของจันทบุรี จะต้องมี “วัดปากน้ำแขมหนู” เป็นหนึ่งในลิสต์รายชื่อด้วย เพราะวัดแห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวัดสวยของเมืองไทย ที่นี่มีความโดดเด่นอยู่ที่ “โบสถ์เซรามิกสีน้ำเงิน” ที่สวยงามโดดเด่นและแปลกตากว่าที่อื่นๆ เหตุที่โบสถ์เป็นสีสวยแบบนี้ เนื่องมาจากโบสถ์หลังเก่าชำรุดและต้องการก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ให้อยู่คงทน ป้องกันการชำรุดเสื่อมโทรเร็วเนื่องจากพื้นที่อยู่ติดน้ำเค็ม

โบสถ์เซรามิกสีน้ำเงินสวยงามโดดเด่นและแปลกตา

องค์พระประธานภายในอุโบสถ
หลังจากศึกษารูปแบบการก่อสร้างโบสถ์จากวัดอื่นๆ จึงมีแนวคิดที่จะใช้เซรามิกมาเคลือบชั้นปูนเพื่อป้องกันน้ำเค็ม โดยมีการผสมสีลงไปในชิ้นงาน ตลอดจนขึ้นเป็นลวดลายต่างๆ นำมาประดับตกแต่งโบสถ์ทั้งหลัง จนกลายเป็นโบสถ์สีน้ำเงินที่มีลวดลายงดงามอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้

วัดพลับ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดพลับ

มาปิดท้ายกันที่ “วัดพลับ” เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อว่า “วัดพลับสุวรรณพิมพราราม” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุวรรณติมพรุธาราม” มีความหมายว่า วัดพลับทอง และท้ายสุด ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดพลับ”

ต่อมาใน พ.ศ. 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งตีฝ่าวงล้อมข้าศึกมาตั้งทัพที่ภาคตะวันออก พระองค์ทรงใช้สถานที่ที่วัดพลับเป็นที่พักทัพและจัดเตรียมกองทัพก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรี ทั้งยังทรงประกอบพิธีบำรุงขวัญทหาร สร้างพระยอดธงแจกจ่าย และนำน้ำในบ่อน้ำมาทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมเหล่าทหารหาญ โดยกระทำพิธีปลุกเสกในอุโบสถหลังเก่า

พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระอุโบสถเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์ สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้ง หน้าบันเป็นรูปพญาครุฑ ด้านหลังพระประธานภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่เชื่อว่าสร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระปรางค์ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
สำหรับพระปรางค์สร้างเป็นแบบมณฑป ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ มีชั้นฐานเขียง ฐานปัทม์ ฐานสิงห์ ด้านนอกมีเจดีย์ทรงลังกาสร้างอยู่รายรอบ ส่วนยอดบนสุดตกแต่งด้วยตรีศูล เป็นการรวมสถาปัตยกรรมไทยต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างสวยงาม

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น